ค้นหา

ชงรีเซตการศึกษา 6 ด้าน แข่งกับโลกในอนาคต

ที่รัฐสภา นายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน อภิปรายงบประมาณด้านการศึกษาว่า งบประมาณนี้ถูกจัดทำในห้วงเวลาที่ประชาชนเดือดร้อนทุกหย่อมหญ้า ภายใต้สภาวะเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ แม้การลงทุนในการศึกษาและการยกระดับภาคการศึกษานั้น จะเป็นการลงทุนที่ไม่เห็นผลทันทีทันใด แต่เราต้องยืนยันว่าการลงทุนในมนุษย์เป็นการลงทุนที่จำเป็นและสำคัญมากต่อการทำให้เราอยู่รอด และแข่งขันกับโลกในอนาคตได้ การศึกษาไทยไปต่อแบบเดิมไม่ได้ ซึ่งงบประมาณด้านการศึกษาของไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2567 ปีละ 4% และกระทรวงศึกษาธิการก็ได้รับงบประมาณเพิ่มขึ้นมากที่สุด

แต่ภายใต้รัฐบาลปัจจุบัน โครงสร้างงบประมาณการศึกษานั้น ไม่มีการเปลี่ยนแปลง หากเราต้องการให้เกิดความคุ้มค่า ตนเห็นว่าเราต้องไปให้ไกลกว่าแค่ปรับปรุงหรือเพิ่มแต่งประมาณหลายโครงการ แต่ต้องเปลี่ยนแปลงโครงสร้างภาพใหญ่ ต้องรีเซตอย่างน้อย 6 ด้าน 

1.รีเซตหลักสูตร ต้องไม่ใช่เหล้าเก่าในขวดใหม่ เพราะหลักสูตรเป็นหัวใจสำคัญของระบบการศึกษา ปีนี้ดูเป็นเรื่องน่าตื่นเต้นที่กระทรวงศึกษาธิการประกาศว่าจะเดินหน้าหลักสูตรใหม่ฉบับปี 2568 แต่พอไปดูรายละเอียดไส้ใน เรากลับค้นพบว่าการจัดทำหลักสูตรฉบับใหม่ ถูกจัดทำแบบลวก ๆ ไม่รอบคอบเพียงพอ เสี่ยงต่อการเสียของรัฐบาลไปเล่นท่ายากและท่าพิสดารโดยไม่จำเป็น 

ทางเลือกที่รัฐบาลสามารถเลือกได้กลับไม่เลือก คือการเพิ่มการต่อยอดจากหลักสูตรฐานสมรรถนะ ที่กระทรวงศึกษาฯและผู้เชี่ยวชาญและมีการเตรียมการวิจัยมาหลายปี ใช้งบประมาณหลายล้านบาท อบรมครูไปแล้วหลายส่วน สิ่งที่รัฐบาลกลับไปเลือกคือการตั้งหลักสูตรขึ้นมาใหม่ทั้งหมดภายในระยะเวลาเพียงแค่ไม่กี่เดือน ตนนับได้ 116-224 วัน 

รัฐบาลไม่ได้เผื่อเวลาเพียงพอให้ครูและสถานศึกษาเตรียมความพร้อมสำหรับหลักสูตรใหม่ เราเปิดเทอมไปเมื่อวันที่ 16 พ.ค.ที่ผ่านมา แต่เอกสารทั้งหมดเกี่ยวกับหลักสูตรใหม่นั้น ถูกเผยแพร่ต่อสาธารณะวันที่ 1 เม.ย. โรงเรียนมีเวลา 45 วันในการศึกษาและปรับวิธีการจัดการเรียนการสอนของครูให้สอดคล้องกับหลักสูตรใหม่ กระบวนการที่อาจจะไม่รอบคอบเพียงพออาจจะทำให้หลักสูตรใหม่ไม่ประสบความสำเร็จ 

2.ภาระงานครู รัฐบาลต้องให้หยุดเป็นโรงงานผลิตแรงงาน ทุกคนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าขาดแคนอัตรากำลังคน การแก้ปัญหานี้ไม่ใช่จะเพิ่มคนโดยการสร้างงานเสมอไป หากสามารถช่วยลดภาระงานครูที่ไม่จำเป็นออก เพื่อให้มีเวลามากขึ้นในการใช้เตรียมการเรียนการสอน หลายโครงการที่เพิ่มภาระงานครูโดยไม่จำเป็น เช่น โครงการเสริมสร้างคุณธรรมจริยธรรมและธรรมาภิบาลในสถานศึกษา ซึ่งเป็นการเพิ่มภาระหน้าที่ให้กับครู ผลชี้วัดไม่ได้สะท้อนความโปร่งใสของสถานศึกษาได้จริง 

3.ต้องลดความเหลื่อมล้ำ รัฐบาลต้องไปไกลกว่าการแจกทุน ไม่ใช่การแจกทุนไม่ดี แต่ภายใต้ทรัพยากรที่จำกัด แจกเท่าไหร่ก็อาจจะไม่พอ 

โครงการหนึ่งอำเภอหนึ่งทุน หรือ ODOS ของรัฐบาล เป็นโครงการที่ช่วยเหลือนักเรียนกว่า 5,700 คน แต่ถ้าคิดเป็นจำนวนนักเรียนที่ได้ทุนก็เหมือนกับการถูกหวยเลขท้าย 2 ตัว แม้ผมจะเชื่อว่าทุน ODOS จะสร้างอนาคตให้กับเด็กที่ได้รับทุนอย่างแน่นอน ส่วนนี้เห็นด้วย แต่ก็เห็นว่ารัฐบาลต้องเอาจริงเอาจังกว่านี้ในการแก้ปัญหาอื่น เพื่อทำให้เด็กที่ขาดโอกาสอีกจำนวนมาก มีโอกาสหลุดพ้นจากกับดักความยากจน 

โดยการหาทางออกของโรงเรียนขนาดเล็กที่ยังขาดงบฯ รวมถึงต้องแก้ไขสถานการณ์ทางการเงินของกองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ด้วย รัฐบาลยังไม่แก้ปัญหาเชิงรุกมากเพียงพอ ไม่เช่นนั้นโครงการ ODOS จะกลายเป็นเพียงกิจกรรมเพื่อสังคมหรือ CSR ประชาสัมพันธ์แล้วดูดี แต่ไม่ได้แก้ไขตัวกิจการหลักของกระทรวงศึกษาธิการ” นายพริษฐ์ระบุ 

4.การลงทุนในเทคโนโลยี รัฐบาลต้องไม่เน้นแค่การสร้างของเล่นใหม่ รัฐบาลชุดนี้มีการลงทุนเยอะมากกับโครงการที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีด้านการศึกษาสูงถึง 13,000-15,000 ล้านบาท เช่น โครงการแพลตฟอร์ม Anywhere Anytime เทียบเท่ากับการสร้างอาคาร สตง. 6-7 อาคาร หากเรามีความกังวลเช่นไรกับการก่อสร้างอาคารที่อาจจะร้าง ไม่มีคนใช้ ซ้ำซ้อนกับที่มีอยู่ หรือหรูหราเกินจำเป็น เราก็ต้องมาตรวจสอบเช่นกันว่าเราไม่ได้กำลังจะสร้างแพลตฟอร์มที่อาจจะร้าง ไม่มีคนใช้ ซ้ำซ้อนกว่าที่มีอยู่ หรือหรูหราเกินจำเป็นเช่นกัน 

5.รีเซตใบปริญญาให้เชื่อมกับอนาคต และไม่เป็นแค่ใบการันตี ตนเข้าใจดีว่าใบปริญญาอาจจะเป็นใบเบิกทางในหลายด้านของชีวิต แต่ต้องยอมรับว่าการมีใบปริญญาในเวลานี้ไม่เพียงพออีกต่อไปในการรับประกันว่าจะมีงานที่รายได้ดีหลังจากเรียนจบ เพราะหลักสูตรที่เรามีนั้นอาจจะไม่รับประกันว่าเด็กที่จบมาอาจจะตอบโจทย์ความต้องการของตลาด กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เคยยอมรับกับกรรมาธิการของตนว่าหลักสูตรไม่ได้ตอบโจทย์กับการศึกษา ซึ่งตนเห็นว่า อว.ก็ยังไม่ได้ใช้งบประมาณที่ตอบโจทย์ในการเพิ่มแรงจูงใจให้มหาวิทยาลัยนั้น มีการปรับสาขาและคณะให้เท่าทันตลาดมากขึ้น 

6.รีเซตบทบาทรัฐเกี่ยวกับการยกระดับแรงงาน หลายครั้งที่รัฐเผลอไปคิดแทนตลาด โครงการที่เข้าข่ายในเรื่องนี้ คือโครงการเชฟ 1 หมู่บ้าน 1 อาหารไทยภายใต้นโยบายซอฟต์พาวเวอร์ ซึ่งปีนี้ได้รับการจัดสรรงบประมาณ 70 ล้านบาท เพื่อผลิตเชฟเข้าสู่เข้าสู่อุตสาหกรรมอาหาร 

ตนคิดว่าในห้วงเวลาที่ธุรกิจร้านอาหารกำลังซบเซา มีการปิดธุรกิจร้านอาหารเพิ่มขึ้น 89% ในปี 2567 หลายคนบอกว่าเป็นการเผาจริง แต่รัฐบาลไปวิเคราะห์และจับสัญญาณตลาดอย่างไรถึงได้ข้อสรุปเป็นแบบนี้ ขอเสนอโมเดลหนึ่งที่ชื่อว่า “เอกชนเลือก ผู้เรียนฝึก รัฐจ่าย” เป็นการรวบงบประมาณของโครงการยกระดับทักษะที่ให้ผู้เรียนไปเลือกเองว่าจะเรียนเกี่ยวกับอะไร 

การศึกษานั้นไม่ได้มีแค่ความสำคัญกับอนาคตของประเทศ เพื่ออนาคตของลูกหลานเรา แต่การศึกษานั้นเป็นบริการแรกที่เราได้รับจากรัฐเกิดขึ้นในประเทศนี้ หากเราต้องการให้ประชาชนในประเทศนี้มีสัมผัสแรกกับรัฐที่ดี ผมเห็นว่าวาระการปฏิรูปการศึกษานั้น เป็นวาระที่เร่งด่วนและรอไม่ได้ เหมือนกับที่มีท่านหนึ่งได้กล่าวไว้ ไม่ทำตอนนี้แล้วจะทำตอนไหน” นายพริษฐ์ระบุ 

พริษฐ์ ชง รีเซตการศึกษา 6 ด้าน odos เหมือนลุ้นหวย 2 ตัว แค่กิจกรรม CSR ข้องใจร้านอาหารเจ๊ง 89% แต่รัฐ ดัน 1 ตำบล 1 เชฟ สวนตลาด ชงโปรเจ็กต์ “เอกชนเลือก ผู้เรียนฝึก รัฐจ่าย” แทน 

ที่มา ; ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 30 พฤษภาคม 2568