วันที่ 30 พฤษภาคม 2568 ผศ.ดร.อมลวรรณ วีระธรรมโม เลขาธิการคุรุสภา ในฐานะกรรมการและเลขานุการการประชุมคณะกรรมการคุรุสภา ครั้งที่ 6/2568 โดยมี พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานการประชุมวาระด่วน ว่า ที่ประชุมได้มีการพิจารณาวาระสำคัญและมีมติเห็นชอบ (ร่าง) ข้อบังคับคุรุสภาว่าด้วยการพิจารณาการประพฤติผิดจรรยาบรรณของวิชาชีพ พ.ศ. .... โดยได้ยกเลิกข้อบังคับเก่าทั้ง 3 ฉบับ และรวบเป็นฉบับใหม่ ซึ่งถือเป็นกฏหมายหลักที่สำคัญในการพิจารณาการประพฤติผิดจรรยาบรรณ ตามนโยบาย เรียนดีมีความสุข และรวดเร็ว ถูกต้อง ประโยชน์ ประหยัด ของ รมว.ศธ และทางคณะกรรมการคุรุสภา มองว่าเพื่อทำให้การลงโทษผู้ประพฤติผิดจรรยาบรรณเกิดความรวดเร็วเป็นธรรม ถูกต้อง ที่สำคัญทำให้เส้นทางของการพิจารณาทันเวลา ทันเหตุการณ์ เพราะโลกเปลี่ยนแปลงไป จึงได้มีการปรับให้มีความชัดเจนขึ้น
โดยสำนักงานเลขาธิการคุรุสภา ได้รับมอบหมายให้ดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง จัดทำข้อบังคับคุรุสภา ว่าด้วยการพิจารณาการประพฤติผิดจรรยาบรรณของวิชาชีพ พ.ศ. 2553 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2559 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2563 บังคับใช้มาเป็นระยะเวลานาน และเพื่อให้การดำเนินงานทางจรรยาบรรณของวิชาชีพมีความรวดเร็วยิ่งขึ้น สอดรับกับสภาวการณ์ในปัจจุบัน เห็นควรแก้ไขเพิ่มเติมข้อบังคับคุรุสภาดังกล่าว ตาม (ร่าง)ข้อบังคับคุรุสภา ว่าด้วยการพิจารณาการประพฤติผิดจรรยาบรรณของวิชาชีพ พ.ศ. .... ซึ่งได้ผ่านการพิจารณาของคณะอนุกรรมการกลั่นกรองการพิจารณาการประพฤติผิดจรรยาบรรณของวิชาชีพ คณะกรรมการมาตรฐานวิชาชีพ และคณะอนุกรรมการกฎหมายและระเบียบแล้ว โดยมีสาระสำคัญของประเด็นการปรับปรุงข้อบังคับ ดังนี้
1. ปรับปรุงข้อกำหนดเดิมให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ประกอบด้วย
1.1 ทำให้ข้อกำหนดเดิมมีความชัดเจนมากขึ้น เช่น การพิจารณาการประพฤติผิดจรรยาบรรณของวิชาชีพตามข้อบังคับคุรุสภา ในชั้นการสืบสวนเพื่อชี้มูลการประพฤติผิดจรรยาบรรณฯ ครอบคลุมบุคคลสองกลุ่ม ได้แก่ ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพทางการศึกษา และผู้ได้รับอนุญาตให้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษาโดยไม่มีใบอนุญาตเป็นการชั่วคราว
1.2 ปรับกระบวนการพิจารณาการประพฤติผิดทางจรรยาบรรณของวิชาชีพ ให้มีความกระชับมากขึ้น แต่มีมาตรฐานไม่ต่ำกว่ากฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง และปรับปรุงเหตุการคัดค้านอนุกรรมการสอบสวนให้สอดคล้องกับกฎกระทรวงที่เกี่ยวข้อง
1.3 ปรับเพิ่มกรณีความผิดที่ปรากฏชัดแจ้ง ให้ครอบคลุมการพิจารณาคดีแพ่ง และ การดำเนินการทางวินัยของหน่วยงานต้นสังกัดของผู้ประกอบวิชาชีพ ซึ่งเป็นที่สิ้นสุดแล้ว
1.4 ปรับเพิ่มกรณีการพักใช้ใบอนุญาตไว้ก่อน ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน ครอบคลุม กรณีที่เห็นประจักษ์ชัดของสังคมและอาจส่งผลเสียหายต่อวิชาชีพอย่างร้ายแรง เช่น เรื่องที่ปรากฏเป็นข่าวทางสื่อมวลชนที่อาจส่งผลเสียหายต่อวิชาชีพอย่างร้ายแรง
1.5 ปรับกระบวนการพิจารณาให้รองรับกับนโยบายการกระจายภารกิจไปยังพื้นที่จังหวัด เพื่อให้มีความรวดเร็วมากยิ่งขึ้น โดยให้บุคลากรของหน่วยงานทางการศึกษา ตำแหน่งนิติกรที่ปฏิบัติงานในพื้นที่จังหวัด และผู้ที่มีความรู้ทางกฎหมายไม่ต่ำกว่าระดับปริญญาตรี ร่วมปฏิบัติงานในคณะอนุกรรมการสอบสวนการประพฤติผิดจรรยาบรรณของวิชาชีพได้ ทั้งนี้ บุคคลดังกล่าวต้องไม่มีลักษณะต้องห้าม ตามมาตรา 13 และมาตรา 16 แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 และไม่เคยประพฤติผิดจรรยาบรรณของวิชาชีพหรือกระทำผิดวินัย
1.6 กำหนดให้มีบุคคลผู้มีความรู้ในด้านจิตวิทยาหรือสังคมสงเคราะห์ เข้าร่วมในการสอบปากคำผู้เสียหายหรือพยานซึ่งเป็นเด็ก เพิ่มเติม
1.7 เพิ่มช่องทางการร้องเรียนกล่าวหา/กล่าวโทษ โดยกำหนดให้ร้องเรียนผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ได้
2. เพิ่มเติมข้อกำหนดใหม่ ประกอบด้วย
2.1 ผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษาประพฤติผิดจรรยาบรรณของวิชาชีพ และคณะกรรมการมาตรฐานวิชาชีพวินิจฉัยชี้ขาดว่าเป็นความผิด แต่ใบอนุญาตหมดอายุ เป็นผลให้การออกคำสั่งทางปกครองไม่มีผลในการบังคับใช้ จึงกำหนดให้บันทึกข้อเท็จจริงไว้ในฐานข้อมูลเพื่อประกอบการพิจารณาลักษณะต้องห้ามของผู้ขอใบอนุญาตต่อไป
2.2 ในระหว่างการสืบสวนและสอบสวน หากผู้ถูกกล่าวหาหรือกล่าวโทษเสียชีวิต ให้เลขาธิการ
สั่งยุติเรื่อง และให้รายงานต่อคณะกรรมการมาตรฐานวิชาชีพเพื่อทราบต่อไป
2.3 ข้อกำหนดเกี่ยวกับการดำเนินการพิจารณากรณี ดังนี้
1) กรณีการกระทำผิดจรรยาบรรณของวิชาชีพในขณะที่ผู้กระทำผิดเป็นผู้มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ และขณะที่อยู่ระหว่างการพิจารณาการประพฤติผิดจรรยาบรรณของวิชาชีพดังกล่าวยังไม่แล้วเสร็จใบอนุญาตประกอบวิชาชีพของผู้กระทำผิดหมดอายุและมิได้ยื่นขอต่ออายุใบอนุญาตประกอบวิชาชีพที่หมดอายุแล้ว และไม่พบข้อมูลการต่ออายุใบอนุญาต
2) กรณีการกระทำผิดจรรยาบรรณของวิชาชีพในขณะที่ผู้กระทำผิดเป็นผู้มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพที่หมดอายุแล้ว และไม่พบข้อมูลการต่ออายุใบอนุญาต
เลขาธิการคุรุสภา กล่าวเพิ่มเติมว่า ขบวนการพิจารณาการประพฤติผิดจรรยาบรรณ ทางคุรุสภาจะจัดทำ MOU กับ สำนักงานปลัดศธ. และทุกหน่วยงานต้นสังกัด ดังนั้น ต่อไปการสืบสวนสอบสวนส่วนหนึ่งคุรุสภาจะนำข้อมูลสำนวนมาจากต้นสังกัด เป็นการทำงานแบบบูรณาการร่วมกัน เพื่อให้การสอบสวนเกิดความรวดเร็วยิ่งขึ้น และผลที่ออกมาก็สอดคร้องกัน และได้มีการเพิ่มโทษ กรณีที่กระทำผิดชัดแจ้งจะครอบคลุมทั้งคดีแพ่งและการดำเนินการทางวินัยของต้นสังกัด และมีการปรับเพิ่มการของการพักใช้ใบอนุญาตให้สอดคร้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน เรื่องที่ปรากฏเป็นข่าวก็สามารถดำเนินการพักใช้ใบอนุญาตได้เลย จึงจะทำให้คนที่ประพฤติผิดจรรยาบรรณได้รับโทษโดยเร็วที่สุด และจะมีบุคคลภายนอกที่มีความรู้ความสามารถเข้ามาร่วมพิจารณาคดีความในขบวนการสืบสวนสอบสวนได้ด้วย
“ข้อบังคับใหม่ของขบวนการพิจารณาการประพฤติผิดจรรยาบรรณ ถ้าความผิดไม่รุนแรง คุรุสภาก็สามารถพักใช้ใบอนุญาตได้ทันทีตามความผิดที่ปรากฏชัดแจ้ง เหมือนกับวิชาชีพอื่นๆที่พักใช้ไว้ก่อน การดำเนินกานขึ้นอยู่กับระดับความผิด แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นในขบวนการจะดำเนินไปเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับทุกคน ดังนั้น ระยะเวลา จึงขึ้นอยู่กับระดับของความผิด แต่การลดขั้นตอนต่างๆลงจะทำให้ระยะเวลาของการตรวจสอบสั้นลงมาก ซึ่งตั้งแต่ปี 2550 -2568 เราสามารถสะสร้างได้ 759 คดี จาก 2,000 กว่าคดี ดังนั้น หากข้อบังคับฉบับใหม่นี้ประกาศใช้ได้เร็ว คุรุสภาก็น่าจะพิจารณาคดีที่ค้างเหลือ เสร็จได้ภายใน 2 เดือนนี้ ต้องขอขอบคุณกรรมการคุรุสภา ที่มี พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศธ.เป็นประธาน ท่านได้เน้นย้ำในเรื่องนี้ เพื่อทำให้ครูและบุคลากรทางการศึกษา คนที่จะทำให้วิชาชีพของเราถูกมองในทางที่ไม่ดี ถูกดำเนินการโดยเร็วที่สุด ซึ่งในวันนี้(30 พ.ค.) รมว.ศธ.ท่านก็จะลงนามในข้อบังคับฉบับใหม่นี้ จากนั้น คุรุสภาจะส่งให้กฤษฎีกาพิจารณาและประกาศในราชกิจจานุเบกษาเร็วที่สุด“ เลขาธิการ คุรุสภา กล่าว
‘บอร์ดคุรุสภา’ ยกเลิกข้อบังคับเก่า 3 ฉบับ รวมเป็นฉบับใหม่พิจารณาประพฤติผิดจรรยาบรรณครูบุคลากร ‘อมลวรรณ’ เผย หากข้อบังคับใหม่ประกาศใช้จะสรางคดีค้างท้อ 759 คดีให้เสร็จภายใน 2 เดือน
ที่มา ; แนวหน้า วันศุกร์ ที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2568
เกี่ยวข้องกัน
“คุรุสภา” อัพเกรดจรรยาบรรณครู! เคาะข้อบังคับฉบับใหม่
เมื่อวันที่ 30 พ.ย. ผศ.ดร.อมลวรรณ วีระธรรมโม เลขาธิการคุรุสภา เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการคุรุสภาวาระพิเศษ โดยมี พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศึกษาธิการ เป็นประธานการ ว่า สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา ได้เสนอ (ร่าง) ข้อบังคับคุรุสภา ว่าด้วยการพิจารณาการประพฤติผิดจรรยาบรรณของวิชาชีพ พ.ศ….เพื่อให้ที่ประชุมได้พิจารณา เนื่องจากข้อบังคับคุรุสภา ว่าด้วยการพิจารณาการประพฤติผิดจรรยาบรรณของวิชาชีพทั้ง 3 ฉบับ คือ พ.ศ. 2553 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2559 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2563 มีการบังคับใช้มาเป็นระยะเวลานาน และเพื่อให้การดำเนินงานทางจรรยาบรรณของวิชาชีพมีความรวดเร็วยิ่งขึ้น สอดรับกับสภาวการณ์ในปัจจุบัน ดังนั้นจึงเห็นควรเสนอให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมข้อบังคับคุรุสภาดังกล่าว ซึ่งที่ประชุมได้พิจารณาและให้ความเห็นชอบ (ร่าง) ข้อบังคับคุรุสภา ว่าด้วยการพิจารณาการประพฤติผิดจรรยาบรรณของวิชาชีพ พ.ศ…. และมอบให้สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา ไปดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อนำมาบังคับใช้ต่อไป
“สำหรับ (ร่าง) ข้อบังคับคุรุสภา ว่าด้วยการพิจารณาการประพฤติผิดจรรยาบรรณของวิชาชีพ พ.ศ….ได้ผ่านการพิจารณาของคณะอนุกรรมการกลั่นกรองการพิจารณาการประพฤติผิดจรรยาบรรณของวิชาชีพ คณะกรรมการมาตรฐานวิชาชีพ และคณะอนุกรรมการกฎหมายและระเบียบแล้ว โดยมีสาระสำคัญของประเด็นการปรับปรุงข้อบังคับ คือ การปรับปรุงข้อกำหนดเดิมให้มีประสิทธิภาพ ทำให้ข้อกำหนดเดิมมีความชัดเจนมากขึ้น การปรับกระบวนการพิจารณาการประพฤติผิดทางจรรยาบรรณของวิชาชีพ ให้มีความกระชับมากขึ้น การปรับเพิ่มกรณีความผิดที่ปรากฏชัดแจ้ง ให้ครอบคลุมการพิจารณาคดีแพ่ง และ การดำเนินการทางวินัยของหน่วยงานต้นสังกัดของผู้ประกอบวิชาชีพ ซึ่งเป็นที่สิ้นสุดแล้ว การปรับเพิ่มกรณีการพักใช้ใบอนุญาตไว้ก่อน ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน กรณีที่เห็นประจักษ์ชัดของสังคมและอาจส่งผลเสียหายต่อวิชาชีพอย่างร้ายแรง การเพิ่มช่องทางการร้องเรียนกล่าวหา/กล่าวโทษ โดยกำหนดให้ร้องเรียนผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ได้ เป็นต้น” เลขาธิการคุรุสภา กล่าว
ที่มา ; เดลินิวส์