วันที่ 29 พฤษภาคม 2568 รศ.ดร.ประวิต เอราวรรณ์ เลขาธิการสภาการศึกษา ให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนว่า พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ สั่งการให้สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการสภาการศึกษา นำเรื่องนโยบายและแนวทางในการยกระดับผลลัพธ์การเรียนรู้ของผู้เรียน (Learning Outcome) ด้วย 5 Big Rocks เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาการศึกษาไทยอย่างก้าวกระโดดเทียบเท่ามาตรฐานสากล นำเข้าพิจารณาในที่ประชุมคณะกรรมการสภาการศึกษา ครั้งที่ 2/2568 ในวันศุกร์ที่ 6 มิถุนายน 2568 นี้
รศ.ดร.ประวิต กล่าวรายละเอียดเพิ่มเติมว่า พล.ต.อ.เพิ่มพูน ให้ความสำคัญกับการพัฒนาคุณภาพการศึกษา โดยจุดเน้นที่สำคัญ คือ การยกระดับผลลัพธ์การเรียนรู้ของผู้เรียน ซึ่งปัจจุบันหน่วยงานและองค์การระหว่างประเทศที่ดำเนินงานด้านการศึกษาจำนวนมาก เช่น UNESCO, OECD, UNICEF, และ WEF กำหนดเป้าหมายในการจัดการศึกษาเพื่อให้ประเทศสมาชิกใช้เป็นแนวทางในการกำหนดนโยบายทางการศึกษาของประเทศ พบว่า ทุกเป้าหมายทางการศึกษานำไปสู่การทำให้ผู้เรียนมีผลลัพธ์ทางการเรียนรู้ที่เพิ่มมากขึ้น ซึ่ง 5 Big Rocks จะเป็นหนึ่งในแนวทางในการช่วยขับเคลื่อนการพัฒนาการศึกษาไทยให้ก้าวกระโดดเทียบเท่ามาตรฐานสากล
5 Big Rocks ประกอบด้วย
1. ประยุกต์ใช้ปัญญาประดิษฐ์เพื่อการศึกษา พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางการศึกษา จัดหาสื่อและอุปกรณ์ดิจิทัลที่มีคุณภาพ พัฒนาทักษะ AI ให้แก่ ผู้เรียน ครู และผู้บริหาร บูรณาการสู่หลักสูตรและการจัดการเรียนการสอน
2. พัฒนาครูอย่างรอบด้าน เพิ่มทักษะให้ครูสามารถสอนเป็นภาษาอังกฤษ ภาษาจีน ลดภาระงานของครู แก้ไขปัญหาหนี้สินครู ให้ครูมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ส่งเสริมธรรมาภิบาลในการบรรจุแต่งตั้งและโยกย้ายครู
3. ทดสอบและประเมินผลทางการศึกษา ยกระดับผลการทดสอบ PISA พัฒนาขีดความสามารถทางการแข่งขันทางการศึกษา ผ่านดัชนี IMD พัฒนาการประเมินผลผู้เรียนให้มีความยืดหยุ่นสอดคล้องกับความต้องการ และปรับปรุงหลักสูตรและการจัดการเรียนการสอนให้รองรับการเปลี่ยนแปลง
4. บริหารจัดการทางการเงินเพื่อการศึกษา ปรับแนวทางการจัดสรรงบประมาณให้แก่สถานศึกษาที่ไม่ผูกพันกับจำนวนผู้เรียน ปรับปรุงโครงสร้างรายการเงินอุดหนุนรายหัวของนักเรียน รวมทั้งจัดหาทุนการศึกษาให้ทั่วถึง 5. จัดการศึกษาสำหรับผู้มีความสามารถพิเศษ พัฒนาระบบการคัดกรองเด็กที่มีความสามารถพิเศษตั้งแต่ระดับปฐมวัย ส่งเสริมการจัดการเรียนการสอนรูปแบบพหุปัญญา ปรับปรุงระบบการประเมินผลให้ได้รับการพัฒนาอย่างเต็มศักยภาพ รับประกันอาชีพแก่เด็กที่มีความสามารถพิเศษ
กระทรวงศึกษาธิการพร้อมมุ่งสู่เป้าหมายการจัดการศึกษาปี 2030 ภายใต้แนวคิด การศึกษาไทย 2030 : เข็มทิศการเรียนรู้สู่การอยู่ดีมีสุข ประกอบด้วย การเรียนรู้อย่างมีคุณภาพและเปี่ยมสุข การสอนที่สร้างสุขและมีคุณค่า การมีงานทำอย่างมั่นคงและแข่งขันได้ และการมีชีวิตอย่างมีคุณธรรมและสมดุล เพื่อทำให้ผู้เรียนในปี 2030 มีผลลัพธ์การเรียนรู้ที่เพียงพอในการดำรงชีวิตและมีงานทำควบคู่กับการมีชีวิตที่ดี
ที่มา ; สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา
เกี่ยวข้องกัน
ศธ. เร่งยกระดับคุณภาพการศึกษาไทยสู่มาตรฐานสากล
วันที่ 4 มิถุนายน 2568 รศ.ดร.ประวิต เอราวรรณ์ เลขาธิการสภาการศึกษา เปิดเผยว่า สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษาได้รายงานพัฒนาการศึกษาไทยรอบทศวรรษ (ปี 2012-2024) เปรียบเทียบภาพรวมการศึกษาไทยในระดับสากล 5 มิติ ได้แก่
รศ.ดร.ประวิต กล่าวต่อไปว่า จากมิติคุณภาพการศึกษาไม่เป็นไปอย่างที่คาดหวังและประสิทธิภาพในการจัดการศึกษาของประเทศไทยอยู่ในระดับต่ำเมื่อเปรียบเทียบกับต่างประเทศ พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศธ. จึงเร่งให้สกศ. ขับเคลื่อนการยกระดับคุณภาพการศึกษาสู่มาตรฐานสากลด้วย 5 Big Rocks ได้แก่ การประยุกต์ใช้ปัญญาประดิษฐ์เพื่อการศึกษา การพัฒนาครูอย่างรอบด้าน การทดสอบและประเมินผลทางการศึกษา การบริหารจัดการทางการเงินเพื่อการศึกษาและการจัดการศึกษาสำหรับผู้มีความสามารถพิเศษ จุดเน้นที่สำคัญ คือ การยกระดับผลลัพธ์การเรียนรู้ของผู้เรียน ภายใต้แนวคิด การศึกษาไทย 2030 : เข็มทิศการเรียนรู้สู่การอยู่ดีมีสุข
ที่มา ; สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา