“เยอะ” และ “ยาก” ตลอดจนขาดความเชื่อมโยงกับชีวิตจริง เป็นข้อจำกัดของหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน ฉบับปัจจุบันที่ใช้มานานกว่า 17 ปี
แม้ว่าที่ผ่านมาจะมีความพยายาม “ยกเครื่อง” หลักสูตรอยู่หลายครั้ง โดยล่าสุดก้าวหน้าไปจนถึงขั้นที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ทดลองใช้หลักสูตรฐานสมรรถนะในปีการศึกษา 2565 และมีแผนที่ประกาศจะใช้ทั่วประเทศภายในปีการศึกษา 2567
แต่กระนั้นจนถึงวันนี้ยังไม่มีการประเมินผลการทดลองใช้ หรือนำหลักสูตรฐานสมรรถนะมาประกาศใช้ทั่วประเทศตามแผนที่เคยวางไว้
ท่ามกลางความไม่ชัดเจนของความคืบหน้าการผลักดันหลักสูตรฐานสมรรถนะนี้ กลับพบว่าสพฐ. เตรียมทดลองใช้หลักสูตรใหม่ ซึ่งก็คือ “หลักสูตรพัฒนาสมรรถนะตามช่วงวัย ระดับชั้น ป.1-3” ที่พัฒนาขึ้นในช่วงปลายปี 2567 กับสถานศึกษาจำนวนหนึ่งในเดือนพฤษภาคมที่จะถึงนี้แทน
ความเคลื่อนไหวดังกล่าวนำไปสู่การเกิดขึ้นของคำถามที่ว่าเหตุใดจึงไม่ขยายผลการทดลองใช้หลักสูตรฐานสมรรถนะ ทั้งที่หลักสูตรดังกล่าวทดลองใช้จริงมาแล้วเกือบ 3 ปี แทนการทดลองหลักสูตรใหม่ และอาจทำให้โรงเรียนหลายแห่งสงสัยว่าต้องเลือกใช้หลักสูตรฉบับใดกันแน่
ก่อนเปิดเทอมใหม่ที่อาจจะทำให้หัวใจว้าวุ่นจากหลักสูตรใหม่นี้ ทีมนโยบายด้านการปฏิรูปการศึกษา ทีดีอาร์ไอ ชวนผู้อ่านสำรวจจุดเด่นและความก้าวหน้าของหลักสูตรฐานสรรถนะเมื่อเทียบกับหลักสูตรแกนกลางฯ ที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน ผลลัพธ์จากการทดลองใช้ในพื้นที่นวัตกรรม และอนาคตของหลักสูตรดังกล่าว ผ่านซีรีย์ “เปลี่ยนการศึกษาเก่าในโลกใหม่” จำนวน 3 ตอน
เรียนไปใช้ได้จริง
เป้าหมายการเรียนรู้คือ สิ่งที่สังคมคาดหวังให้ครูต้องพาผู้เรียนให้ไปถึง และมักจะมีผลต่อวิธีการสอน และการประเมินผู้เรียนที่ครูจะเลือกใช้ ในขณะที่หลักสูตรแกนกลางฯ เน้นพัฒนาให้ผู้เรียนจดจำเนื้อหาทางวิชาการจำนวนมาก หลักสูตรฐานสมรรถนะกลับคาดหวังให้ผู้เรียนสามารถนำสิ่งที่ได้เรียนรู้ไปใช้ได้จริง
หลักสูตรแกนกลางฯ วิชาสุขศึกษา และพลศึกษา ระดับประถมศึกษาตอนปลาย “อธิบายวิธีการดูแลรักษาระบบสืบพันธุ์ ระบบไหลเวียนโลหิต และระบบหายใจให้ทำงานตามปกติ วิเคราะห์พฤติกรรมเสี่ยงที่อาจนำไปสู่การมีเพศสัมพันธ์ การติดเชื้อเอดส์ และการตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควร”
หลักสูตรฐานสมรรถนะ วิชาสุขศึกษา และพลศึกษา ระดับประถมศึกษาตอนปลาย “ดูแลสุขภาพทางเพศตามช่วงวัย ป้องกันตนเองให้ปลอดภัยจากการคุกคามทางเพศ และไม่แสดงพฤติกรรม คุกคามทางเพศผู้อื่นทั้งกายและวาจา ด้วยความเข้าใจในผลเสียหรืออันตรายที่เกิดจากพฤติกรรมเสี่ยงอันอาจนำไปสู่ปัญหาทางเพศ และผลกระทบอื่นๆ ที่ตามมา”
จะเห็นได้ว่าเป้าหมายการเรียนรู้ของทั้งสองหลักสูตรแตกต่างกัน
หลักสูตรฐานสมรรถนะคาดหวังให้ครูต้องพัฒนาผู้เรียนให้สามารถนำสิ่งที่เรียนไปใช้ “ดูแล” หรือ “ป้องกัน” ตัวเองได้จริง ซึ่งแน่นอนว่าต้องอาศัยวิธีการสอน และการประเมินที่ใกล้เคียงกับสถานการณ์จริง ขณะที่หลักสูตรแกนกลางฯ คาดหวังให้นักเรียนเพียงแค่ “อธิบาย” หรือ “วิเคราะห์” เนื้อหา ซึ่งอาจอาศัยเพียงแค่การบอกสอนก็สามารถบรรลุเป้าหมายได้ และไม่รับประกันว่าผู้เรียนจะใช้ประโยชน์จากสิ่งที่อธิบายได้จริง
สิ่งนี้สะท้อนชัดว่าเป้าหมายการเรียนรู้ของหลักสูตรฐานสมรรถนะมีการพัฒนาที่รอบด้านมากกว่าด้านการให้ความรู้เพียงอย่างเดียว เพราะยังมีการพัฒนาด้านทักษะ และทัศนคติที่ดี ซึ่งล้วนสำคัญต่อการนำสิ่งที่เรียนไปใช้ได้จริงมากกว่าหลักสูตรแกนกลางฯ อย่างมาก
โดยหลักสูตรฐานสมรรถนะ ครอบคลุมการพัฒนาความรู้ ทักษะ และทัศนคติที่ดีถึง 86% ของเป้าหมายทั้งหมด ขณะที่หลักสูตรแกนกลางฯ กว่า 90% เน้นไปที่การพัฒนาด้านความรู้เพียงอย่างเดียว
คู่มือสอนดี
นอกจากนี้เพื่อรับประกันว่าครูทุกคนจะสามารถสอน และประเมินเป้าหมายการเรียนรู้ได้อย่างที่ควรจะเป็น หลายประเทศที่มีการศึกษาที่ก้าวหน้า เช่น ออสเตรเลีย หรือสิงคโปร์ ต่างมีคำแนะนำการสอน หรือ “คู่มือ” ที่เป็นรูปธรรม และเจาะจงกับทุกเป้าหมายการเรียนรู้
การศึกษาของทีดีอาร์ไอ จากงาน Assessing Competency-based Education (CBE) Implementation in Pilot Schools in Thailand สนับสนุนโดย UNICEF Thailand พบว่า หลักสูตรแกนกลางฯ มีข้อจำกัดเรื่องคำอธิบายหลักสูตร โดยเน้นอธิบายเป็นหลักการกว้าง ๆ และไม่ได้เจาะจงกับวิชา เช่น คาดหวังให้ครูจัดการเรียนรู้ด้วย “การเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ” หรือ “การเรียนรู้จากสถานการณ์จริง” แต่ไม่ได้ลงรายละเอียดเนื้อหาในแต่ละวิชาว่าควรสอนอย่างไรจึงจะสอดคล้องกับหลักการดังกล่าว
ในทางตรงกันข้าม หลักสูตรฐานสมรรถนะมีคำอธิบายหลักสูตรที่เป็นรูปธรรม ครอบคลุมทุกวิชา และเป้าหมายการเรียนรู้ เช่น เรียนรู้เกี่ยวกับการนับจำนวน เศษส่วน ทศนิยม ร้อยละ และอัตราส่วนในรายวิชาคณิตศาสตร์ มีการแนะนำให้ครูนำสถานการณ์จริง เช่น การคำนวณปริมาณวัตถุดิบตามสูตรอาหาร หรือแนวคิดการสอนเฉพาะศาสตร์ เช่น การใช้บาร์โมเดล มาใช้สอนนักเรียนในเนื้อหาดังกล่าว
หมดยุคเรียนหนัก ลดเวลาในห้องเรียนได้ 1 ปี
จำนวนชั่วโมงเรียนที่มากเกินไปอาจส่งผลเสียต่อสุขภาวะของนักเรียน และเวลาที่ครูสามารถใช้เตรียมสอน หรือประเมินการเรียนรู้ของผู้เรียน
ที่ผ่านมาหลักสูตรแกนกลางฯ ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากว่ามีจำนวนชั่วโมงเรียนที่มากเกินไป โดยการเรียนระดับประถมศึกษา 6 ปี หลักสูตรกำหนดให้ใช้เวลาเรียน “ไม่น้อยกว่า 1,000 ชั่วโมงต่อปี” หรือคิดเป็น 6,000 ชั่วโมงตลอดหลักสูตร ซึ่งมากกว่าค่าเฉลี่ยของกลุ่มประเทศ OECD ที่ 4,561 ประมาณ 35% หรือมากกว่า 1 ปีครึ่งเลยทีเดียว
หลักสูตรฐานสมรรถนะจึงปรับลดจำนวนชั่วโมงเรียนเหลือ “ไม่เกิน 800 ชั่วโมงต่อปี” ในชั้น ป.1- ป.3 และ “ไม่เกิน 900 ชั่วโมงต่อปี” ในชั้น ป.4-ป.6 หรือคิดเป็น 5,100 ชั่วโมงตลอดหลักสูตร ซึ่งแม้จะยังสูงกว่าค่าเฉลี่ยของกลุ่มประเทศ OECD อยู่เล็กน้อย (ประมาณ 12%) แต่ก็ลดลงจากหลักสูตรแกนกลางฯ ประมาณ 15% หรือเทียบเท่า 1 ปีการศึกษา
อีกประเด็นหนึ่งที่หลักสูตรแกนกลางฯ มีข้อจำกัด คือ การกำหนดชั่วโมงเรียนแต่ละวิชาอย่างเข้มงวด และมีชั่วโมงเรียน “วิชาเพิ่มเติม” ที่ให้โรงเรียนจัดการศึกษาได้อย่างอิสระเพียง 4% ของเวลาเรียนทั้งหมด ทำให้โรงเรียนไม่สามารถจัด “ชั่วโมงเรียนบูรณาการ” ซึ่งเป็นการเรียนผ่านปัญหา หรือสถานการณ์จริง โดยเชื่อมโยงเนื้อหาจากหลายวิชา ได้อย่างเต็มที่
อย่างไรก็ตามเนื่องจากการแก้ไขปัญหาในโลกจริงมักไม่สามารถระบุว่าต้องใช้องค์ความรู้ใดอย่างเดียว แต่ต้องอาศัยความรู้จากหลายสาขา หลักสูตรฐานสมรรถนะจึงได้กำหนดให้สถานศึกษาทุกห้องต้องจัดรายวิชาบูรณาการ 25-45% จากเวลาเรียนทั้งหมด ซึ่งเป็นการรับประกันว่านักเรียนทุกคนจะได้รับการพัฒนาให้สามารถนำสิ่งที่เรียนรู้ไปใช้ได้จริง
โดยสรุปแล้ว หลักสูตรฐานสมรรถนะได้นำเสนอเป้าหมายการเรียนรู้ คู่มือครู และการกำหนดชั่วโมงเรียนแบบใหม่ ที่สามารถแก้ไขข้อจำกัดของหลักสูตรแกนกลางฯ ที่ใช้ในปัจจุบันได้ และน่าจะทำให้การสอนและการประเมินผู้เรียนของครูเอื้อต่อการพัฒนาผู้เรียนให้สามารถนำสิ่งที่เรียนรู้ไปใช้จริงได้
แต่สุดท้ายหลักสูตรจะประสบความสำเร็จหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับการนำไปใช้ ในบทความต่อไปคณะผู้วิจัยจะนำเสนอการถอดบทเรียนจากโรงเรียนที่กำลังทดลองใช้หลักสูตรนี้
ที่มา TDRI
เกี่ยวข้องกัน
เปลี่ยนการศึกษาเก่าในโลกใหม่ (2): ห้องเรียนในโลกจริงที่ทดลองใช้แล้ว 3 ปี
ที่ได้กล่าวถึงความแตกต่างระหว่างหลักสูตรฐานสมรรถนะ กับหลักสูตรฉบับปัจจุบัน ทั้งด้านเป้าหมายการเรียนรู้ที่ดีขึ้น คำแนะนำการสอนที่นำบริบทจริงมาใช้ และจำนวนชั่วโมงเรียนที่มีความยืดหยุ่น ในบทความนี้ คณะวิจัยจะชวนมาดูบทเรียนของโรงเรียนที่กำลังทดลองใช้หลักสูตรฐานสมรรถนะ โดยจะนำเสนอความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นภายหลังจากการใช้หลักสูตรฐานสมรรถนะใน 3 ประเด็น ได้แก่ หลักสูตรสถานศึกษา การจัดประสบการณ์การเรียนรู้ในห้องเรียน และผลลัพธ์ของนักเรียนจากการใช้หลักสูตร
ทิศทางใหม่ของหลักสูตรสถานศึกษา
หลักสูตรสถานศึกษาฐานสมรรถนะได้นำสมรรถนะมาเป็น “เป้าหมายใหม่” ในการพัฒนาผู้เรียน เน้นการจัดประสบการณ์การเรียนรู้ที่อ้างอิงสถานการณ์จริงเพื่อสร้างการเรียนรู้ที่มีความหมาย ผู้เรียนที่เป็นผลผลิตของหลักสูตรจะสามารถแก้ปัญหาในชีวิตประจำวันได้ เรียนไปใช้งานเป็น รู้เท่าทันโลก และสามารถปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพสังคม และความก้าวหน้าทางวิทยาการได้อย่างมีประสิทธิภาพ
หลักสูตรสถานศึกษาฐานสมรรถนะยัง “ลดเวลาเรียน แต่เพิ่มเวลารู้”
“ลดเวลาเรียน” โดยมีเวลาเรียนตลอดหลักสูตรที่ลดลงเฉลี่ยถึง 808 ชั่วโมง หรือเกือบ 1 ปีการศึกษา ทำให้นักเรียนมีเวลาส่วนตัวในการทบทวนเนื้อหาในบทเรียนที่ไม่เข้าใจ อีกทั้งยังเพิ่มเวลาการเตรียมการสอนของครู ทำให้ครูสามารถจัดประสบการณ์การเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
“เพิ่มเวลารู้” โดยเพิ่มความยืดหยุ่นของการจัดสรรเวลาเรียนของสถานศึกษา หลักสูตรสถานศึกษาจึงมีความหลากหลาย เนื่องจากสถานศึกษาสามารถพัฒนาโครงสร้างเวลาเรียนที่ตอบโจทย์ลักษณะผู้เรียนของตนได้มากยิ่งขึ้น จึงทำให้นักเรียนมีโอกาสได้รับการพัฒนาความรู้และทักษะที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตตามจังหวะที่เหมาะสมของตนเอง
จากห้องเรียนสู่สนามทดลองกับการเรียนรู้ผ่านการแก้ปัญหาในชีวิตจริง
หลักสูตรสถานศึกษาฐานสมรรถนะ ยังตอบโจทย์การพัฒนาผู้เรียนให้สามารถแก้ปัญหาในชีวิตจริงได้ผ่านการเรียนรู้แบบ “บูรณาการ” เฉลี่ยมากถึงร้อยละ 30 ของชั่วโมงเรียนรวมตลอดหลักสูตร การเรียนรู้แบบบูรณาการมีความสำคัญอย่างมากต่อการพัฒนาสมรรถนะ เพราะปัญหาในชีวิตจริง ไม่ได้บอกเราว่าต้องใช้เรื่องไหนหรือศาสตร์ใดในการแก้ปัญหา
จากการลงไปสำรวจโรงเรียนนำร่องที่ใช้หลักสูตรฐานสมรรถนะ พวกเราพบตัวอย่างที่น่าสนใจของชั่วโมงบูรณาการคละชั้นระหว่างระดับชั้น ป.1 ถึง ป.3 ภายใต้การนำของครู 3 คน ของโรงเรียนแห่งหนึ่งในจังหวัดระยอง
โรงเรียนนี้นำ “ต้นมะขาม” ซึ่งเป็นพืชสมุนไพรในชุมชน มาใช้เป็น “โจทย์” ให้นักเรียนสำรวจ และศึกษา ส่วนประกอบต่าง ๆ โดยนักเรียนที่ถูกแบ่งออกเป็นกลุ่ม ต้องระบุส่วนต่าง ๆ ของต้นมะขามจากภาพที่ได้รับ และระดมสมองหาวิธีการนำส่วนเหล่านั้นไปใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวัน ผ่านการออกแบบผลิตภัณฑ์จากส่วนประกอบของมะขามตามโจทย์ที่ได้รับมอบหมาย
ครูทั้ง 3 คนปรับบทบาทจากการเป็น “ครูหน้าห้อง” ที่คอยบอกสอน เป็น “ครูหลังห้อง” ที่ทำหน้าที่เพียงอำนวยความสะดวกการเรียนรู้ที่มีนักเรียนเป็นคนนำตนเอง ครูเพียงแต่เดินสำรวจนักเรียนในแต่ละกลุ่ม ให้คำแนะนำ สร้างแรงบันดาลใจ และใช้คำถามที่ชวนให้ขบคิดเพื่อกระตุ้นให้นักเรียนวิเคราะห์โจทย์ของตนได้อย่างลึกซึ้งมากยิ่งขึ้น อีกทั้งยังเปิดโอกาสให้นักเรียนเลือกหัวข้อที่นักเรียนสนใจสำหรับการเรียนในชั่วโมงถัดไป
นักเรียนก็ปรับบทบาทจากการเป็น “ผู้ฟัง” สู่การเป็น “ผู้นำ” นักเรียนนำการเรียนรู้ของตนเองผ่านการสำรวจความรู้เดิม และเลือกหัวข้อศึกษาที่นักเรียนให้ความสนใจ นักเรียนร่วมปฏิบัติจากโจทย์ที่ท้าทายในโลกจริง ซึ่งกระตุ้นนักเรียนให้เชื่อมโยงความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ ศิลปะ และสังคมศึกษา อีกทั้งยังพัฒนาทักษะที่จำเป็นต่อการเรียนรู้ตลอดชีวิต เช่น ความคิดสร้างสรรค์ผ่านการออกแบบผลิตภัณฑ์ ทักษะการทำงานเป็นทีมผ่านการทำงานกลุ่ม และทักษะการสื่อสารผ่านการนำเสนอผลงานต่อหน้าชั้นเรียน
ปฏิเสธไม่ได้ว่า หลักสูตรฐานสมรรถนะที่โรงเรียนเลือกใช้เป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ส่งเสริมให้การจัดการเรียนรู้แบบบูรณาการดังกล่าวประสบผลสำเร็จ ด้วยเป้าหมายการเรียนรู้ในรูปแบบช่วงชั้นและโครงสร้างเวลาเรียนที่มีความยืดหยุ่น ครูต่างชั้นต่างวิชาจึงสามารถจัดการเรียนรู้ร่วมกันในลักษณะของการคละชั้นได้
การจัดการสอนในรูปแบบคละชั้นยังเปิดโอกาสให้ครูสามารถแบ่งหน้าที่กันเพื่อสร้างประสบการณ์การเรียนรู้ที่ดีขึ้นให้แก่นักเรียนและยังเป็นพื้นที่ให้ครูได้เกิดการการสอนร่วมกัน
ปั้นนักเรียนให้มีคุณลักษณะที่ดีขึ้น
ในส่วนของระดับการมีส่วนร่วมของผู้เรียน แนวทางการจัดการเรียนรู้เชิงรุกโดยใช้โจทย์ที่ท้าทายจากชีวิตจริงที่ครูเลือกใช้มีส่วนสำคัญต่อระดับการมีส่วนร่วมของนักเรียนที่สูงมากถึงร้อยละ 90 สะท้อนผ่านการตั้งใจฟังขณะที่ครูอธิบาย การร่วมทำกิจกรรมอย่างกระตือรือร้น การตั้งใจฟังการนำเสนอของเพื่อน การอาสาที่จะทำกิจกรรมหรือตอบคำถาม รวมถึงการซักถามครูเมื่อมีข้อสงสัย
ครูและผู้บริหารสถานศึกษายังสะท้อนด้วยว่า นักเรียนมีคุณลักษณะที่ดีขึ้นภายหลังจากที่โรงเรียนได้ปรับมาใช้หลักสูตรฐานสมรรถนะ ที่เห็นเด่นชัดคือ มีความกระตือรือร้น มีความกล้าแสดงออก มีความเป็นผู้นำ มีจิตอาสา มีส่วนร่วมกับการทำกิจกรรมในห้องเรียน และมีความรับผิดชอบต่อตนเองและผู้อื่นมากยิ่งขึ้น
โดยสรุปแล้ว หลักสูตรฐานสมรรถนะช่วยลดข้อจำกัดในแง่ของเป้าหมายการเรียนรู้ และโครงสร้างเวลาเรียนที่ขาดความยืดหยุ่นของหลักสูตรฉบับปัจจุบันได้ ซึ่งทำให้การจัดประสบการณ์การเรียนรู้ และการประเมินของครูเอื้อต่อการพัฒนาสมรรถนะของนักเรียนมากยิ่งขึ้น ทำให้นักเรียนสามารถนำสิ่งที่เรียนรู้ไปใช้จริงได้ รวมถึงสร้างคุณลักษณะที่ดีให้เกิดแก่นักเรียน
อย่างไรก็ตาม การปรับใช้หลักสูตรให้ประสบความสำเร็จในทางปฏิบัติต้องอาศัยระบบการจัดการศึกษาที่ส่งเสริม และเกื้อหนุนการใช้งานของหลักสูตรด้วยเช่นกัน
ที่มา TDRI
เกี่ยวข้องกัน
เปลี่ยนการศึกษาเก่าในโลกใหม่ (3): หลักสูตรใหม่ บนทางแยก
จากบทความที่กล่าวมา ได้ฉายภาพให้เห็นแล้วว่าหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานฉบับปัจจุบัน และหลักสูตรฐานสมรรถนะมีความแตกต่างอย่างไร รวมถึงเมื่อนำหลักสูตรฐานสมรรถนะไปทดลองจัดประสบการณ์การเรียนรู้ในห้องเรียนเกิดผลลัพธ์อะไรขึ้นบ้าง ในบทความนี้ ผู้เขียนจะนำเสนอโอกาสในการปฏิรูปหลักสูตรชาติ บทเรียนจากการดำเนินงานที่ผ่านมา และข้อเสนอเชิงนโยบาย
หลักสูตรไม่เปลี่ยน ถ้าระบบไม่เปิด
เป็นเวลากว่า 17 ปีแล้วที่กระทรวงศึกษาธิการได้ประกาศใช้หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2551 โรงเรียนทั้งหมดต่างก็ยึดตามหลักสูตรแกนกลางฯ ฉบับเดียวกันนี้
แน่นอนว่า 17 ปีที่ผ่านมามีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นมากมาย ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยีที่พัฒนาอย่างก้าวกระโดด ตลาดแรงงานที่มีทั้งอาชีพใหม่เกิดขึ้น อาชีพเก่าหายไป นำมาซึ่งความต้องการทักษะใหม่ ๆ ในขณะที่หลักสูตรแกนกลางฯ ยังมีข้อจำกัดต่อการยกระดับคุณภาพการศึกษา ผู้เรียนส่วนใหญ่ไม่ได้รับการพัฒนาสมรรถนะ ขาดความสามารถที่จะนำสิ่งที่ได้เรียนรู้ไปประยุกต์ใช้ในชีวิตจริง
ระบบการศึกษาไทยจึงจำเป็นต้องปรับตัวเพื่อให้สามารถสร้างทักษะที่จำเป็นแก่ผู้เรียน หน่วยงานทางการศึกษาในประเทศไทยจึงมีความพยายามผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงหลักสูตรระดับชาติ จากหลักสูตรแกนกลางฯ ที่เน้นการเรียนรู้เนื้อหาสาระ เป็นหลักสูตรฐานสมรรถนะที่เน้นการนำสิ่งที่เรียนรู้ไปประยุกต์ใช้ในชีวิตจริง
ตั้งแต่ พ.ศ. 2560 ได้มีความพยายามปรับหลักสูตรแกนกลางฯ ให้เป็นหลักสูตรฐานสมรรถนะหลายครั้ง โดยคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา (กอปศ.) เสนอแนะให้นำแนวคิดการศึกษาฐานสมรรถนะมาใช้กับการพัฒนาหลักสูตรระดับชาติ พร้อมกำหนดกรอบสมรรถนะ 10 ด้านใน พ.ศ. 2562 ต่อมาสำนักวิชาการ และมาตรฐานการศึกษา (สวก.สพฐ.) ได้เผยแพร่กรอบหลักสูตรสมรรถนะ โดยมีสมรรถนะ 5 ด้าน ในช่วง พ.ศ. 2563 แต่ถูกยกเลิกแผนการทดลองใช้ ก่อนที่จะมีการขยายเป็นสมรรถนะ 6 ด้านใน พ.ศ. 2564 แต่ทั้งหมดนี้ยังไม่มีหลักสูตรใดที่ถูกนำมาใช้แทนหลักสูตรแกนกลางฯ
นอกจากนี้ การปรับหลักสูตรแกนกลางฯ ยังมีอีกหลายปัจจัยที่ต้องคำนึงถึง ทั้งการปรับเปลี่ยนระบบบริหารวิชาการ (การจัดการสอน การประเมิน การประกันคุณภาพ) การเตรียมความพร้อมบุคลากร รวมถึงระบบบริหารงานบุคคล ระบบบริหารงบประมาณ ถือว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงใหญ่ที่ส่งผลต่อผู้เกี่ยวข้องกับระบบการศึกษาแทบทั้งหมด การปรับหลักสูตรจึงถือเป็นเรื่องที่ท้าทายอย่างมาก
สนามทดลองหลักสูตรใหม่ เปลี่ยนวิธีคิดทั้งระบบ
แม้การพัฒนาหลักสูตรระดับชาติจะยังไม่ประสบผลสำเร็จ หลักสูตรฐานสมรรถนะที่มีสมรรถนะ 6 ด้าน ก็ได้มีการนำไปทดลองใช้จริงใน “พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา” ซึ่งถูกจัดตั้งขึ้นภายใต้พ.ร.บ.พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ. 2562 พื้นที่นวัตกรรมการศึกษาเป็นพื้นที่ทดลองให้จังหวัด และโรงเรียนมีอิสระในการบริหารจัดการ เกิดการพัฒนาทั้งนวัตกรรมการบริหาร และนวัตกรรมการสอน นำไปสู่การยกระดับผลสัมฤทธิ์ผู้เรียน และลดความเหลื่อมล้ำ
ปัจจุบัน โรงเรียนนำร่องพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา มีทั้งหมด 1,680 แห่ง จาก 20 จังหวัด และมีโรงเรียนถึง 130 แห่งที่ได้ทดลองนำหลักสูตรฐานสมรรถนะดังกล่าวไปใช้จัดการศึกษา ซึ่งเป็นโรงเรียนเพียงกลุ่มเดียวในประเทศไทยที่สามารถดำเนินการได้ โดยที่มีกฎหมายรับรอง
พื้นที่นวัตกรรมการศึกษาเอื้อให้โรงเรียนสามารถทดลองนำหลักสูตรต่าง ๆ รวมทั้งหลักสูตรฐานสมรรถนะมาใช้จัดการสอน จากปัจจัยหลายประการ
ประการแรก พ.ร.บ. พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ได้ให้อิสระโรงเรียนนำร่องในการเลือกใช้หลักสูตรโดยไม่จำเป็นต้องยึดติดกับหลักสูตรแกนกลางฯ รวมทั้งยังสามารถปรับหลักสูตรแกนกลางฯ หรือจะนำหลักสูตรอื่น ๆ มาใช้ก็ได้ เช่น หลักสูตรฐานสมรรถนะ หลักสูตรต่างประเทศ (ม.20 และ ม.25) ทั้งนี้คณะกรรมการนโยบายพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา (กนน.) ยังมีมติเห็นชอบให้สถานศึกษานำร่องสามารถนำหลักการของ (ร่าง) หลักสูตรฐานสมรรถนะไปพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษาของตนเองได้ จึงทำให้โรงเรียนนำร่องมีความมั่นใจในการริเริ่มทดลองใช้หลักสูตรฐานสมรรถนะ
ประการที่สอง องค์ประกอบการบริหารวิชาการอื่น ๆ ที่จำเป็นต่อการนำหลักสูตรไปใช้จัดการสอน และบริหารจัดการภายในโรงเรียนก็สามารถปรับให้สอดคล้องได้เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นการเลือกซื้อสื่อหนังสือเรียนที่สอดคล้องกับหลักสูตรสถานศึกษาโดยไม่จำเป็นต้องยึดตามรายการสื่อการเรียนรู้ตามหลักสูตรแกนกลางฯ ที่ สพฐ. ได้กำหนดไว้
นอกจากนี้ยังมีแนวทางการเทียบโอนผลการศึกษาเพื่อคุ้มครองสิทธิในการเรียนต่อของนักเรียนในโรงเรียนนำร่องฯ ที่จบการศึกษาด้วยหลักสูตรฐานสมรรถนะ ไปจนถึงการพัฒนาหลักเกณฑ์การประกันคุณภาพแบบใหม่สำหรับพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาโดยเฉพาะ ซึ่งยึดโยงกับผลสัมฤทธิ์เชิงสมรรถนะของผู้เรียนเป็นหลัก
ประการที่สาม โรงเรียนนำร่องฯ ได้รับการพัฒนาศักยภาพทางด้านวิชาการด้วยกลไกสนับสนุนในระดับพื้นที่ ทั้งจากหน่วยงานทางการศึกษาในพื้นที่ และผู้เชี่ยวชาญภายนอก เช่น อาจารย์ในสถาบันอุดมศึกษา ตัวแทนภาคเอกชน ตัวแทนภาคประชาสังคม ที่เข้ามาสร้างความรู้ความเข้าใจในการจัดการสอนฐานสมรรถนะของครู โดยเฉพาะการให้คำแนะนำเกี่ยวกับการออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้ การจัดการเรียนรู้ การเลือก/การใช้สื่อ การวัดและประเมินผล การให้กำลังใจ การจัดสรรทรัพยากรเพื่อสนับสนุนการเรียนรู้ของครูและนักเรียน และการจัดให้มีการทำงานแบบยืดหยุ่นเพื่อเอื้อให้ครูสามารถจัดการเรียนรู้ฐานสมรรถนะได้ มีส่วนช่วยให้ครูมีความเข้าใจและมั่นใจในการนำหลักสูตรฐานสมรรถนะไปจัดการมากยิ่งขึ้น
บทสรุป
บทความสะท้อนให้เห็นแล้วว่าหลักสูตรฐานสมรรถนะมีความแตกต่างจากหลักสูตรฉบับปัจจุบัน ทั้งด้านเป้าหมายการเรียนรู้ที่เปลี่ยนจากการเน้นพัฒนาทักษะการคิด และเน้นถ่ายทอดเนื้อหาความรู้ให้กับผู้เรียน เป็นเป้าหมายให้ผู้เรียนสามารถนำสิ่งที่ได้เรียนรู้ไปใช้ได้จริง มีคำแนะนำการสอนที่เป็นรูปธรรม มีคำอธิบายรายวิชา มีข้อแนะนำการนำสถานการณ์จริงมาใช้ และมีจำนวนชั่วโมงเรียนที่ทั้งลดลงและมีความยืดหยุ่นมากยิ่งขึ้น
และแสดงให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงเชิงบวกที่เกิดขึ้นภายหลังการใช้หลักสูตรฐานสมรรถนะในโรงเรียน โดยมีตัวอย่างโรงเรียนที่กำหนดเป้าหมายที่มุ่งเน้นให้นักเรียนสามารถนำสิ่งที่ได้เรียนรู้ไปใช้งานได้ ใช้เวลาเรียนลดลง จัดการสอนที่เน้นการบูรณาการให้นักเรียนได้ลงมือทำ และสร้างการมีส่วนร่วมกับนักเรียนในระดับที่สูง
บทเรียนต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจากการทดลองใช้หลักสูตรฐานสมรรถนะในโรงเรียนนำร่องพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจึงน่าจะเป็นประโยชน์ต่อภาคนโยบาย ให้นำไปพิจารณาปรับหลักสูตรระดับชาติ
สิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้ยากหากให้โรงเรียนและพื้นที่ดำเนินการภายใต้ระบบปกติ ซึ่งโรงเรียนต้องยึดติดกับกฎระเบียบของกระทรวงศึกษาธิการ พื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจึงเปิดโอกาสให้โรงเรียนได้ทดลองเปลี่ยนแปลงการบริหารจัดการ และพัฒนานวัตกรรมการศึกษาโดยไม่กระทบต่อการศึกษาทั้งระบบ
พ.ร.บ.พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ.2562 กำลังอยู่ในจุดสำคัญในช่วงระยะเวลา 1 ปีสุดท้าย เนื่องจากพระราชบัญญัติมีเวลาบังคับใช้ 7 ปี และสามารถขยายเวลาบังคับใช้ได้อีก 1 ครั้ง (ไม่เกิน 7 ปี) ดังนั้น การขยายเวลาอีก 7 ปี จึงเปรียบเสมือการเปิดประตูให้ระบบการศึกษาไทยมีโอกาสทดลองจริง ปรับจริง และเปลี่ยนแปลงได้จริง เพื่อให้เด็กไทยมีทางเลือกกับหลักสูตรใหม่ที่เท่าทันโลก
บทความโดย ทัฬหวิชญ์ ฐิติรัตน์สกุล นักวิจัยนโยบายด้านการปฏิรูปการศึกษา ทีดีอาร์ไอ
บทความนี้ เนื้อหาส่วนหนึ่งมาจากการศึกษาของทีดีอาร์ไอ ในงาน Assessing Competency-based Education (CBE) Implementation in Pilot Schools in Thailand สนับสนุนโดย UNICEF Thailand
ที่มา ;TDRI
เกี่ยวข้องกัน
ปรับปรุงกฎหมายการศึกษาใหม่ ให้หลักสูตรไทยเท่าทันโลก
เปิดเทอมใหม่นี้ กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) จะทดลองใช้ “หลักสูตรใหม่” กับโรงเรียนกว่า 4,000 แห่งทั่วประเทศ แม้ข่าวนี้จะเป็นเรื่องน่ายินดียิ่งแต่ก็สะท้อนให้เห็นถึงความท้าทายสำคัญของระบบการศึกษาไทย ที่ยังอิงกับแรงผลักดันทางการเมืองมากกว่ากลไกการพัฒนาหลักสูตรอย่างเป็นระบบ
17 ปีผ่านไป เด็กไทยยังเรียนเรื่องเดิม
นักเรียนไทยตั้งแต่ระดับชั้น ป.1 – ม.6 ต้องเรียนตามเป้าหมาย และเนื้อหาที่กำหนดไว้ในหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2551 ซึ่งประกาศใช้มากว่า 17 ปี
ท่ามกลางสถานการณ์ที่ผลการทดสอบ PISA ของเด็กไทยลดลงอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่สังคมเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เทคโนโลยีมีพัฒนาการอย่างก้าวกระโดด กระแสวิพากษ์วิจารณ์หลักสูตรแกนกลางฯ ก็เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะกับเป้าหมายของหลักสูตร ที่เน้นถ่ายทอดความรู้ทางวิชาการ มากกว่าพัฒนาให้ผู้เรียนเกิด “สมรรถนะ” หรือสามารถนำความรู้ที่เรียนไปประยุกต์ใช้ในชีวิตจริงได้
แม้ศธ. ได้ปรับปรุงหลักสูตรแกนกลางฯ มาโดยตลอด แต่การปรับปรุงกลับไม่มีทิศทาง หรือแผนการดำเนินงานที่ชัดเจน ส่งผลให้การปรับหลักสูตรแต่ละครั้งมักเป็นการตอบสนองต่อปัญหาเฉพาะหน้า เช่น การบริหารจัดการเวลาเรียน หรือเกณฑ์การจบหลักสูตร หรือเป็นไปตามวาระทางการเมืองมากกว่าตามความเปลี่ยนแปลงของสังคม หรือทิศทางการจัดการศึกษาของโลก
การปรับเนื้อหาหลักสูตรให้ทันสมัยเกิดขึ้นเพียงครั้งเดียว คือ ในปี 2560 ที่ ศธ. ได้มอบหมายให้สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) และสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ยกเครื่องเนื้อหาวิชาวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และภูมิศาสตร์ให้ทันสมัย ขณะที่เนื้อหาของวิชาอื่น ๆ ยังคงเดิม กล่าวอีกนัยหนึ่ง คือ เป้าหมายและเนื้อหาส่วนใหญ่ของหลักสูตรเด็กไทยต้องเรียนแทบไม่เปลี่ยน ไปจาก 17 ปีที่แล้วที่โทรศัพท์มือถือเป็นยุค 2G และ AI ยังคงเป็นเรื่องไกลตัว
5 ปีผ่านไป หลักสูตรใหม่ยังไม่ได้ใช้จริง
ด้วยข้อจำกัดของหลักสูตรแกนกลางฯ ทำให้ตั้งแต่ปี 2560 หลายองค์กรภาคประชาสังคมจึงได้ร่วมกันผลักดันข้อเสนอให้ ศธ. ปรับหลักสูตรแกนกลางฯ ให้สอดคล้องกับแนวคิดการศึกษาฐานสมรรถนะ ซึ่งเน้นพัฒนาให้นักเรียนสามารถนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ในชีวิตจริงได้
ศธ.จึงได้ริเริ่มแนวคิดที่จะเปลี่ยนหลักสูตรแกนกลางฯ ฉบับปัจจุบัน ให้เป็นหลักสูตรฐานสมรรถนะตั้งแต่ปี 2563 แม้จะถูกล้มเลิกไปถึง 2 ครั้งจากกระแสต่อต้านของครูจำนวนหนึ่ง และการเปลี่ยนรัฐมนตรี แต่ท้ายที่สุดร่างหลักสูตรฐานสมรรถนะ (ระดับประถมศึกษา) ก็แล้วเสร็จในช่วงปลายปี 2564 พร้อมแผนทดลองใช้หลักสูตรตั้งแต่ปี 2565 และประกาศใช้หลักสูตรทั่วประเทศภายในปี 2567
จากการติดตามการของทีมวิจัยทีดีอาร์ไอ พบว่า หลักสูตรฐานสมรรถนะมีการเปลี่ยนแปลงที่ดีหลายประการเมื่อเทียบกับหลักสูตรแกนกลางฯ เช่น เป้าหมายการเรียนรู้ที่ทันสมัย และเน้นการปฏิบัติจริงมากขึ้น การมีชั่วโมงเรียนบูรณาการให้นักเรียนฝึกนำความรู้ไปใช้แก้ปัญหาในชีวิตจริง และการมีคู่มือครูที่ชัดเจน ซึ่งการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้น่าจะช่วยให้การเรียนการสอนตอบโจทย์ผู้เรียนมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2565 หลังจากที่รองนายกรัฐมนตรีที่กำกับดูแล ศธ. ในขณะนั้นระบุว่ายังไม่มีแนวคิดที่จะปรับหลักสูตร ศธ.ก็ไม่มีการดำเนินการขับเคลื่อนการทดลองใช้หลักสูตรฐานสมรรถนะอย่างเป็นรูปธรรม และหยุดแผนการนำหลักสูตรฐานสมรรถนะมาเป็นหลักสูตรแกนกลางฯ ฉบับใหม่ ดังที่วางแผนไว้ก่อนหน้า
ท่ามกลางสถานะที่คลุมเครือของหลักสูตรฐานสมรรถนะ ศธ.เพิ่งเผยแพร่ร่างหลักสูตรพัฒนาสมรรถนะตามช่วงวัยในระดับชั้นปฐมวัย และประถมศึกษาตอนต้น ซึ่งพัฒนาขึ้นในช่วงปลายปี 2567 และจะทดลองใช้ในสถานศึกษากว่า 4,000 แห่งทั่วประเทศ ตั้งแต่เปิดเทอมใหม่ที่จะถึงนี้ซึ่งถือเป็นพัฒนาการที่สำคัญ
อย่างไรก็ตาม ความล่าช้าในการปรับหลักสูตรใหม่ในช่วงที่ผ่านมา ทำให้โรงเรียนส่วนใหญ่ในประเทศไทยจะยังคงใช้หลักสูตรเดิมที่ประกาศมาร่วม 17 ปีต่อไป และจะมีการทดลองใช้หลักสูตรสองฉบับพร้อมกันตั้งแต่ปี 2568 โดยยังไม่มีความชัดเจนว่าจะมีการปรับและประกาศใช้หลักสูตรแกนกลางฯ ฉบับใหม่อย่างเป็นทางการเมื่อใด
แนวทางการพัฒนาหลักสูตรของต่างประเทศ
งานวิชาการหลายชิ้นชี้ตรงกันว่า ประเทศที่ระบบการศึกษามีคุณภาพต่างวางกลไกเพื่อให้การปรับหลักสูตรเป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทีมวิจัยทีดีอาร์ไอได้ศึกษาระบบการพัฒนาหลักสูตรของประเทศออสเตรเลีย และประเทศอังกฤษ ซึ่งทั้งสองประเทศต่างมีการปรับหลักสูตรเป็นประจำ และมีระบบการปรับหลักสูตรที่น่าสนใจ ดังนี้
ประเทศอังกฤษ เริ่มประกาศใช้หลักสูตรชาติ ตั้งแต่ปี 2531 ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมามีการปรับเนื้อหาหลักสูตรมาแล้ว 5 ครั้ง หรือเฉลี่ยทุก 8 ปี การปรับหลักสูตรแต่ละครั้งจะมีการแต่งตั้งผู้เชี่ยวชาญจำนวนหนึ่งให้ดำรงตำแหน่งคณะทำงานทบทวนหลักสูตร และกำหนดเป้าหมาย หลักคิด แนวทางการทำงาน รวมถึงกรอบระยะเวลาการทบทวนหลักสูตรไว้ใน (Term of Reference) อย่างชัดเจน
หลักการหนึ่งที่กำหนด คือ ให้กระบวนการทบทวนหลักสูตรมีการหารืออย่างใกล้ชิดกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง นอกจากนี้ หลังจากการทบทวนหลักสูตรเสร็จสิ้น หากคณะทำงานมีข้อเสนอเกี่ยวกับการปรับหลักสูตร กระทรวงก็มีข้อกำหนดให้ต้องเว้นระยะเวลาให้สถานศึกษาเตรียมตัวอย่างน้อย 1 ปีการศึกษา
ประเทศออสเตรเลีย แม้เพิ่งจะเริ่มประกาศใช้หลักสูตรในปี 2551 แต่ก็มีการปรับปรุงเนื้อหาหลักสูตรมามากถึง 9 ครั้ง และมีการทบทวนหลักสูตรครั้งใหญ่เช่นเดียวกับประเทศอังกฤษ 2 ครั้ง การปรับปรุงหลักสูตรของประเทศออสเตรเลียจะดำเนินงานโดย Australian Curriculum, Assessment and Reporting Authority (ACARA) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ตั้งขึ้นมาเพื่อภารกิจเกี่ยวกับหลักสูตรโดยเฉพาะ และมีการกำหนดกฎระเบียบให้ต้องติดตามประเมินผลและปรับปรุงหลักสูตรทุกปี รวมทั้งให้มีการทบทวน หลักสูตรครั้งใหญ่ทุก 6 ปี โดยเน้นกระบวนการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง
หลักสูตรแกนกลางเป็นองค์ประกอบสำคัญต่อการจัดการศึกษา แต่การพัฒนาหลักสูตรของประเทศไทยกลับไม่มีระบบการพัฒนาหลักสูตรที่ชัดเจน จึงส่งผลให้การปรับหลักสูตรเกิดความล่าช้าขาดการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องอย่างเพียงพอ และต้องพึ่งแรงผลักดันจากภาคการเมืองเป็นหลัก
ดังนั้น เพื่อให้ประเทศไทยมีการปรับปรุงหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานให้ทันสมัยอยู่เสมอ เราขอเสนอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการออกกฎหมายกำหนดรายละเอียดเกี่ยวกับการพัฒนาหลักสูตรไว้ในร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฉบับใหม่ ซึ่งกำลังอยู่ในกระบวนการพิจารณาของรัฐสภา และออกกฎหมายลำดับรองพร้อมระบุประเด็นที่สำคัญ
เช่น กรอบระยะเวลาสำหรับการติดตามประเมินผลหลักสูตร สัดส่วนของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในคณะกรรมการที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาหลักสูตร กระบวนการพัฒนาหลักสูตรและการสื่อสารกับสาธารณชน รวมทั้งกำหนดระยะเวลาเตรียมความพร้อมก่อนการนำหลักสูตรไปใช้จริง เพื่อให้เด็กไทยได้เรียนหลักสูตรที่เท่าทันโลกที่ผ่านการพิจารณามาเป็นอย่างดี
บทความโดย ณัฐวุฒิ เพิ่มจิตร, พิทวัส นามนวด, ทัฬหวิชญ์ ฐิติรัตน์สกุล นักวิจัยทีมนโยบายด้านการปฏิรูปการศึกษา ทีดีอาร์ไอ
ที่มา ;TDRI