ค้นหา

ทักษะแห่งศตวรรษที่21

นับตั้งแต่การก้าวเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 เป็นต้นมา โลกมีการเปลี่ยนแปลงหลายสิ่งหลายอย่างอย่างรวดเร็วมาก ตั้งแต่เรื่องของการปฎิวัติเทคโนโลยีดิจิตอล (Digital Disruption) ไปจนถึงเรื่องของการปฎิวัติอาชีพ (Career Disruption) หลายสิ่งหลายอย่างทำให้วิถีชีวิตของมนุษย์เปลี่ยนไปเพื่อก้าวให้ทันโลกที่เปลี่ยนแปลง รวมไปถึงเรื่องการศึกษาที่เริ่มปรับเปลี่ยนรูปแบบตลอดจนมีสาขาวิชาใหม่ๆ ที่น่าสนใจผุดขึ้นมามากมาย การก้าวเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 นั้นแม้แต่องค์กรเองก็ต้องปรับตัวให้ทันการเปลี่ยนแปลง รวมไปถึงแรงงานทั้งหลายที่ก็ต้องพัฒนาตัวเองให้ก้าวทันความก้าวหน้าด้วย หลายประเทศเริ่มมีการส่งเสริมการศึกษาในการเตรียมความพร้อมเพื่อพัฒนาประชากรให้เหมาะสำหรับโลกในยุคใหม่ ไปจนถึงพัฒนาศักยภาพประชากรและแรงงานให้ก้าวทันการเปลี่ยนแปลงนี้ด้วย ซึ่งว่ากันว่าทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 ที่มีความจำเป็นและเป็นแนวทางในการพัฒนาบุคลากรชาติในทุกระดับนั้นก็คือทักษะ 8C ที่ประกอบไปด้วยรายละเอียดดังต่อไปนี้

1.Creativity Skill – ทักษะการสร้างสรรค์ :
การสร้างสรรค์นั้นหมายถึงตั้งแต่การสร้างสิ่งใหม่ๆ ไปจนถึงสร้างสิ่งที่มีอยู่แล้วให้น่าสนใจในรูปแบบใหม่ๆ ซึ่งปัจจุบันความคิดสร้างสรรค์เริ่มถูกนำมาใช้กับแทบทุกศาสตร์ที่ไม่ใช่แค่ด้านศิลปะและการออกแบบเหมือนแต่ก่อน ทุกอย่างสามารถใส่ความคิดสร้างสรรค์ให้เกิดมูลค่าและประสิทธิภาพขึ้นได้ ที่สำคัญความคิดสร้างสรรค์นี่แหละเป็นจุดกำเนิดของการเกิดนวัตกรรมใหม่ๆ ด้วยนั่นเอง
2.Computers Technology Skill – ทักษะทางด้านเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ :
ทักษะด้านนี้ถือเป็นพื้นฐานสำคัญของเทคโนโลยีไปจนถึงนวัตกรรมต่างๆ ที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะระบบอินเตอร์เน็ตที่เป็นเสมือนกุญแจสำคัญในการพลิกโฉมโลกใบนี้สู่โลกยุคดิจิตอล (Digital Age) ที่มีการเปลี่ยนแปลงทางด้านต่างๆ มากมาย วิถีชีวิตมนุษย์ในยุคศตวรรษที่ 21 นี้เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีอยู่ตลอดเวลาตั้งแต่วิถีชีวิตประจำวันไปจนถึงการทำงานเลยทีเดียว การเรียนรู้ทักษะคอมพิวเตอร์นี้จึงถือเป็นสิ่งสำคัญที่จะเป็นรากฐานในการพัฒนาตนเอง พัฒนาวิชาชีพ พัฒนาชาติ และพัฒนาโลก
3.Cross-cultural Relationship – ทักษะทางด้านความสัมพันธ์ข้ามวัฒนธรรม :
ศตวรรษที่ 21 ไม่เพียงแต่เป็นยุคของการผสมผสานหลากวัฒนธรรม (Multi Culture) เท่านั้น แต่ยุคนี้ยังเป็นยุคของความสัมพันธ์ข้ามวัฒนธรรม (Cross Cultural) ที่ทั้งโลกเชื่อมถึงกันได้อย่างง่ายดายอีกด้วย รวมไปถึงโลกทั้งใบต่างก็มีวัฒนธรรมใหญ่ร่วมกันมากขึ้นทุกที การเรียนรู้สังคมต่างวัฒนธรรมนั้นทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ การช่วยเหลือด้านการสร้างสรรค์ไปจนถึงร่วมกันสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ตลอดจนการเกิดธุรกิจการค้าระหว่างกัน การมีทักษะในด้านนี้จะทำให้วัฒนธรรมย่อยเกิดความเข้าใจระหว่างกัน สามารถทำงานตอบสนองกันได้ รวมถึงผลิตสินค้าและนวัตกรรมเพื่อตอบสนองความต้องการของแต่ละวัฒนธรรมได้ด้วยนั่นเอง
4.Communication – ทักษะทางด้านการสื่อสาร :
ทักษะนี้ถือเป็นสิ่งสำคัญมากในโลกยุคที่ไร้พรมแดนขึ้นทุกวัน นอกจากการฟัง พูด อ่าน เขียน แล้วปัจจุบันยังต้องใส่ใจในสื่อ ตลอดจนช่องทางการสื่อสารต่างๆ ด้วย ยุคนี้มนุษย์มีสื่อและช่องทางการสื่อสารกันมากมาย ทั้งเพื่อประโยชน์ส่วนตัวและประโยชน์ทางธุรกิจ ตลอดจนประโยชน์ด้านอื่นๆ การเข้าใจการสื่อสารกันที่ถูกต้องและถูกวิธีจะทำให้เกิดความเข้าใจที่ตรงกัน เกิดความเข้าใจอันดี และการสื่อสารต่างวัฒนธรรมก็จะช่วยให้เชื่อมต่อถึงกันได้ด้วย การสื่อสารนั้นยังรวมไปถึงสื่อต่างๆ ด้วย ยุคนี้ต้องรู้จักการใช้สื่อให้เป็น เสพสื่อให้เหมาะสมและมีวิจารณญาณ ในขณะเดียวกันก็ต้องใช้สื่อช่วยให้เกิดประโยชน์ด้วย อย่างเช่น ใช้สื่อในการเรียน การสอน หรือใช้สื่อเป็นช่องทางในการทำธุรกิจ ตลอดจนเผยแพร่ความรู้ต่างๆ เป็นต้น
5.Collaboration – ทักษะในการสร้างความร่วมมือ :
จะเห็นได้ว่าปัจจุบันนี้มีการร่วมมือกันระหว่างประเทศหรือข้ามกลุ่มข้ามองค์กร ข้ามวัฒนธรรมกันมากมาย ในขณะที่สงครามการแข่งขันทางธุรกิจยิ่งทำให้แต่ละฝ่ายต่างแย่ ยุคนี้ก็เลยเกิดการร่วมมือจับมือกันพัฒนาธุรกิจที่ได้ประโยชน์ด้วยกันทุกฝ่าย การร่วมมือกันนั้นก่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และช่วยพัฒนานวัตกรรมหรือประโยชน์ต่างๆ ได้มากมาย การร่วมมือกันนี้ยังหมายถึงการทำงานเป็นทีม การร่วมแรงร่วมใจกัน สามัคคีกัน และสร้างประโยชน์ร่วมกันทุกฝ่าย เป็นยุคที่ไม่ใช่มุ่งแข่งขันกันโดยไม่ใส่ใจปัญหาที่สร้างขึ้น แต่เป็นยุคที่ต้องผนึกกำลังกันเพื่อต่อสู้กับอุปสรรค์หรือสร้างประโยชน์เสียมากกว่า
6.Critical Thinking – ทักษะในการเผชิญวิกฤตและการแก้ปัญหา :
ไม่ว่าจะยุคไหนๆ หรือการทำอะไรก็ตาม ย่อมมีโอกาสเจอปัญหา เจอความผิดพลาด หรือเจอวิกฤติที่คาดไม่ถึงมากมาย สิ่งสำคัญคือต้องเตรียมรับมืออย่างไร มีการเผชิญกับวิกฤติอย่างไร และมีทักษะในการแก้ปัญหาที่ดีอย่างไร ไม่ใช่วิ่งหนีปัญหา หรือหวั่นกลัววิกฤติ แต่ต้องรู้จักลุกขึ้นเผชิญกับปัญหา มีสติในการเผชิญหน้ากับวิกฤต และต้องมีความรอบคอบในการแก้ปัญหาด้วย ปัญหานี้ยังรวมไปถึงอุปสรรค์ต่างๆ ในการทดลอง การคิดค้นนวัตกรรม หากสามารถหาวิธีการแก้ปัญหา (Problem Solution) ได้ก็คือหนทางในการเกิดสิ่งประดิษฐ์หรือนวัตกรรมใหม่ๆ ขึ้นมาได้ด้วยนั่นเอง หรือแม่แต่การเผชิญกับวิกฤติด้านสังคมไปจนปัญหาด้านมนุษยชาติ การยุติปัญหา หาทางแก้ไข หาทางออกที่ดีที่สุด ก็คือทักษะที่ดีที่โลกยุคใหม่ต้องการ
7.Continuous Learning – ทักษะการเรียนรู้อย่างไม่หยุดนิ่ง :
โลกในยุคศตวรรษที่ 21 นี้มีการส่งเสริมสังคมทั่วโลกให้เป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ (Learning Society) เพราะการเรียนรู้นั้นไม่มีวันสิ้นสุด เราสามารถเรียนรู้ได้ทุกอย่าง เรียนรู้ได้เสมอ และเรียนรู้ได้ตลอดเวลา การเรียนรู้ไม่ได้มีข้อจำกัดเรื่องอายุ วัย เพศ การศึกษา หรือแม้แต่เชื้อชาติ ทุกคนสามารถที่จะเรียนรู้ได้ตั้งแต่เรื่องใกล้ตัวไปจนถึงเรื่องต่างวัฒนธรรม สังคมแห่งการเรียนรู้นั้นถือเป็นต้นทุนที่ดีในการพัฒนาชาติและโลก บุคลากรที่มีการเรียนรู้อยู่ตลอดเวลาและนำการเรียนรู้นั้นมาใช้ให้เกิดประโยชน์ก็ย่อมทำให้องค์กรหรือสังคมนั้นเจริญก้าวหน้ายิ่งๆ ขึ้นไปด้วย ซึ่งเราควรส่งเสริมการเรียนรู้ให้กลายเป็นปกติวิสัยของมนุษย์เพื่อที่จะทำให้กลายเป็นทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณค่าและมีศักยภาพนั่นเอง
8.Career in Deep Skill – ทักษะวิชาชีพเชิงลึก :
เมื่อโลกมีความหลากหลายด้านอาชีพขึ้น ในขณะที่ศาสตร์อาชีพเดิมก็เริ่มมีความลึกขึ้นเช่นกัน ในยุคศตวรรษที่ 21 นี้ทุกคนแข่งขันกันพัฒนาศักยะภาพตนเองในสาขาวิชาชีพตน ศึกษาให้ลึกซึ้ง และเพิ่มทักษะความชำนาญทางวิชาชีพให้ลึกขึ้นเรื่อยๆ จนกลายเป็นผู้เชี่ยวชาญ ไม่ว่าจะสาขาวิชาชีพใดในโลกยุคนี้ล้วนต้องการผู้เชี่ยวชาญ ผู้รู้จริง ดังนั้นเทรนด์ในการพัฒนาบุคลากรจึงเป็นการพัฒนาวิชาชีพเชิงลึก และเป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานสากล ในขณะที่สาขาวิชาชีพใหม่ๆ ต่างก็แข่งขันกันพัฒนาในเชิงลึกด้วยเช่นกัน ใครที่ยิ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญก็ยิ่งมีโอกาสได้งานสูง และสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ชัดเจน

ความเห็นของผู้ชม