ค้นหา

แนวทางการพัฒนาประเทศในสถานการณ์แพร่ระบาด โควิด 19

ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด - 19 ซึ่งเป็นโรคอุบัติใหม่ที่คาดว่าอาจจะมีผลกระทบต่อการพัฒนาประเทศในหลายมิติ จึงจัดทำแผนแม่บทเพิ่มเติมจากที่มีอยู่เดิม ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ เพื่อให้การขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศและการบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการระบาดของโควิด - 19 เป็นไปอย่างต่อเนื่องและเกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม ตามวิสัยทัศน์ประเทศไทยมีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เป็นประเทศพัฒนาตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 

โดยกำหนด แนวทางการพัฒนาตามหลักการ 3 มิติ (Cope, Adapt, Transform) และมี 4 ประเด็นการพัฒนา (Local Economy, Future Growth, Human Capital, Enabling Factors) สรุปได้ ดังนี้

 

หลักการพัฒนา 3 มิติ

มิติที่ 1 พร้อมรับ(Cope) หมายถึง การลดความเปราะบางโดยการขจัดจุดอ่อนและข้อจำกัดเดิมที่มี และพร้อมบริหารจัดการในทุกภาวการณ์ได้อย่างเต็มศักยภาพภายใต้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด 

มิติที่ 2 ปรับตัว (Adapt) หมายถึง การปรับรูปแบบและแนวทางการดำเนินการให้สอดคล้องกับกระแสการเปลี่ยนแปลงและความไม่แน่นอน การกระจายความเสี่ยงรวมถึงการปรับตัวเพื่อสร้างโอกาสจากการเปลี่ยนแปลง 

มิติที่ 3 เปลี่ยนแปลงเพื่อพร้อมเติบโต (Transform) หมายถึงการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างและปัจจัยพื้นฐาน เช่น ระเบียบ กฎหมาย นโยบาย และสถาบัน เพื่อพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส และมุ่งสู่การเติบโตอย่างมีคุณภาพ ทั่วถึง และงยืน

 

โดยมีประเด็นการพัฒนา 4 เรื่อง ดังนี้

1.การเสริมสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานรากภายในประเทศ (Local Economy) โดย การส่งเสริมการจ้างงาน  การช่วยเหลือและพัฒนาศักยภาพวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(SMEs)  การกระจายความเจริญทางเศรษฐกิจไปยังหัวเมืองหลักในภูมิภาคและเมืองรอง 

2.การยกระดับขีดความสามารถของประเทศเพื่อรองรับการเจริญเติบโตอย่างยั่งยืนในระยะยาว (Future Growth)  โดย การส่งเสริมอุตสาหกรรมและบริการทางการแพทย์ครบวงจร  การส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์และเน้นคุณภาพ  การยกระดับภาคการเกษตรสู่เกษตรมูลค่าสูง  การส่งเสริมอุตสาหกรรมอาหาร การปรับอุตสาหกรรมยานยนต์ไปสู่อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ 

3. การพัฒนาศักยภาพและคุณภาพชีวิตของคนให้เป็นกำลังหลักในการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศ (Human Capital)  โดยการพัฒนาทักษะแรงงานและการเรียนรู้  การขยายและพัฒนาระบบหลักประกันทางสังคม  การเสริมสร้างความมั่นคงทางสุขภาพ 

4. การปรับปรุงและพัฒนาปัจจัยพื้นฐานเพื่อส่งเสริมการฟื้นฟูและพัฒนาประเทศ (Enabling Factors) โดย การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจใหม่  การปรับปรุงกฎหมายและส่งเสริมภาครัฐดิจิทัล  การพัฒนาองค์ความรู้และนวัตกรรม  การเสริมสร้างความมั่นคงและการบริหารจัดการความเสี่ยง การส่งเสริมการมีส่วนร่วมของเครือข่ายและภาคีการพัฒนา 

ที่มา ; แผนแม่บทเฉพาะกิจภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติอันเป็นผลมาจากสถานการณ์โควิด - 19 พ.ศ. ๒๕๖๔ - ๒๕๖๕

ความเห็นของผู้ชม