ในกรอบการเรียนรู้ทักษะจำเป็นเพื่อศตวรรษที่ 21 ทักษะการเรียนรู้และนวัตกรรม (Learning and Innovation Skills) สะท้อนให้เห็นจากความพยายามคิดค้นหลักสูตร นโยบายให้มีรูปแบบการสอนที่ปลุกกระตุ้นการเรียนรู้ด้วยตนเองของผู้เรียนมากขึ้น (Self-Learning)
โดยธรรมชาติแล้วไม่มีมนุษย์คนไหนมีทักษะใดๆ ติดตัวมาตั้งแต่เกิด มันไม่ใช่เรื่องของพรสวรรค์ แต่เป็นการฝึกฝนผ่านระยะเวลาเพื่อให้เกิดความชำนาญ ในโลกดิจิทัลทักษะที่มนุษย์มีสามารถเกิดขึ้นกับเทคโนโลยีได้เช่นกันและใช้เวลาในการฝึกฝนน้อยกว่า ทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 คือ รูปแบบใหม่ของการศึกษาที่ไม่ได้มีจุดหมายปลายทางเพื่อการสอบ แต่เป็นการเรียนรู้ทักษะเพื่อความอยู่รอดในยุคที่เกรดเฉลี่ยหรือเกียรตินิยมไม่ได้รับประกันอนาคตอันสดใสอีกต่อไป ความรู้เพียงอย่างเดียวนั้นไม่เพียงพอต่อการอยู่รอดในศตวรรษที่ 21 หากปราศจากทักษะ
World Economic Forum (WEF) ได้สรุปทักษะที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21 (21st-Century Skill) ออกมาเป็น 16 ทักษะ และจากการวิจัยของ World Economic Forum (WEF) พบว่าจริงๆ แล้วทักษะที่จำเป็นอย่างมากในศตวรรษที่ 21 ที่เพิ่มเติมออกมาอย่างเห็นได้ชัดเมื่อเทียบกับโลกยุคเก่าก็คือ ทักษะการเข้าสังคมและอารมณ์ (Social & Emotional Skills) อีกด้วย ซึ่งหากพิจารณาเกี่ยวกับความสามารถในการทำงานและแยกออกเป็นลักษณะ Soft Skill และ Hard Skill พบดังนี้
Soft Skill ที่คนทำงานควรมี
เป็นทักษะทางด้านบุคคล ไม่สามารถวัดผลได้ชัดเจน ทักษะที่ค่อยๆ พัฒนามาจากการใช้ชีวิต การเข้าสังคมและการทำงาน ซึ่งเป็นทักษะที่สามารถเอาไปปรับใช้ได้ ไม่ว่าจะทำงานในสายงานไหนก็ตาม
สรุปแล้วก็เป็นทักษะที่ใช้ในการปฏิสัมพันธ์กับคน เป็นกลุ่มทักษะที่เกี่ยวข้องกับการเข้าสังคม + อารมณ์เป็นหลัก และ Soft Skills เกิดได้ก็ต่อเมื่อเราผ่านการฝึกฝนและลงมือทำ ตัวอย่างเช่น
— การบริหารเวลา (Time Management)
— การเรียนรู้ตลอดชีวิต (Life-Long Learning)
— ความฉลาดทางอารมณ์ (Emotional Intelligence)
— ความสามารถในการปรับตัว (Adaptability)
— การทำงานร่วมกับผู้อื่น (Collaboration)
— การสื่อสาร (Communication)
— การแก้ไขปัญหาที่มีความซับซ้อน (Complex Problem Solving)
— การคิดเชิงวิเคราะห์และเลือกตัดสินใจ (Critical Thinking and Decision-making)
— ความคิดสร้างสรรค์ (Creativity)
Hard Skill ทักษะที่นายจ้างยุคใหม่ต้องการ
คือสิ่งที่นิยามว่าเราเป็นอะไร (วิชาชีพด้านไหน) ทักษะเฉพาะทางที่สามารถสอนและวัดผลได้ เช่นการออกแบบ การทำบัญชี การเขียนโปรแกรม การควบคุมเครื่องจักรกล ด้านวิศวกรรม หรือวิชาชีพด้านอื่นๆ เป็นต้น
เป็นทักษะที่ใช้ในการทำงานได้ หรือมีการฝึกฝนสะสมเป็นประสบการณ์ เกิดความชำนาญ และมีความเป็นผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านนั้นๆ สามารถสอนหรือถ่ายทอดองค์ความรู้ให้ผู้อื่นได้ ตัวอย่างเช่น
— การจัดการ Cloud and Distributed Computing
— ความเข้าใจและการใช้งานปัญญาประดิษฐ์ (AI)
— การผลิตอนิเมชั่น ภาพเคลื่อนไหว (Animation)
— การวิเคราะห์เชิงเหตุผล (Analytical Reasoning)
— การวิเคราะห์ทางธุรกิจ (Business Analysis)
— การจัดการทีมงาน (People Management)
— การออกแบบประสบการณ์ผู้ใช้ (UX Design)
— การออกแบบแอพพลิเคชั่นบนสมาร์ทโฟน
— การผลิตวิดิโอ
— ความสามารถในการขาย (Sales Leadership)
— การแปลภาษา (Translation)
— การผลิตเสียง (Audio Production)
— การประมวลผลทางภาษา (Natural Language Processing)
— การทดสอบและพัฒนาซอฟต์แวร์
— Computer Graphics
— Scientific Computing
— Digital Marketing
— การพัฒนาเกม (Game Development)
— Social Media Marketing
— วิทยาศาสตร์ข้อมูล (Data Science)
— การวางกลยุทธ์เพื่อสร้างข้อได้เปรียบทางการแข่งขัน (Competitive Strategies)
— การจัดระบบบริการลูกค้า (Customer Service Systems)
— การออกแบบเชิงอุตสาหกรรม (Industrial Design)
— ทักษะการเล่าเรื่อง (Journalism/Storyteller)
— การสื่อสารและประชาสัมพันธ์องค์กร (Corporate Communications)
อ้างอิง ; วิทยากรนอกกล่อง/Trainer Backpacker