ดร. เอกชัย กี่สุขพันธ์ ประธานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ ที่ประชุม กพฐ. ได้หารือถึงผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อการศึกษาอย่างไรบ้าง เช่น เด็กอาจออกจากระบบการศึกษากลางคันเท่าใด จะปรับเปลี่ยนวิธีการเรียนการสอนออนไลน์อย่างไรให้ได้คุณภาพ เป็นต้น
มองว่าคุณภาพการเรียนในรูปแบบออนไลน์ขึ้นอยู่กับปัจจัย ดังนี้
1. ความพร้อมของผู้เรียน ระดับมัธยมอาจไม่น่าห่วงเท่าระดับประถม
2. การจัดตารางการเรียนออนไลน์ ต้องไม่สอนแบบปกติเหมือนยกห้องเรียนไปไว้ที่บ้าน อาจสร้างความเครียดให้เด็กได้ และจะมีเด็กกี่คนที่นั่งอยู่หน้าจอเหมือนเรียนในห้องเรียน
ดังนั้น ครูต้องสร้างความเข้าใจให้ผู้เรียน ได้รู้ว่าเนื้อหาวิชาที่สอน ต้องเรียนรู้อะไรบ้าง มีอะไรที่เป็นสาระสำคัญ ผู้เรียนควรได้รับทักษะ และสมรรถนะอะไรบ้าง ที่ทำให้นักเรียนผ่านการประเมิน ส่วนนักเรียนควรจะเรียนได้ทุกเวลา หรือเรียนตามที่สะดวก ซึ่งอาจเป็นนอกตารางเวลาเรียนได้ โดยครูไม่ต้องเช็คชื่อเข้าเรียนออนไลน์
ดร.เอกชัยกล่าวต่อว่า
3. เทคนิคการสอน หรือการถ่ายทอดสาระความรู้ ควรปรับเปลี่ยน ครูต้องไม่ทำสื่อเนื้อหาวิชาใส่ PowerPoint Presentation แล้วสอนผ่านระบบออนไลน์แบบ oneway แต่ควรเน้นสอนในสาระสำคัญ อธิบายให้นักเรียนเข้าใจเนื้อหาอย่างกว้างๆ แล้วให้นักเรียนฝึกทักษะ การคิด การทำกิจกรรมให้ครูสังเกตผ่านระบบออนไลน์ โดยครูต้องได้รับการพัฒนา หรืออบรมการใช้แพลตฟร์อมต่างๆ ที่สถานศึกษาจัดเตรียมไว้
4. การประเมินผลการเรียนรู้ ต้องเลิกประเมินตามตัวชี้วัดต้องรู้ ควรรู้ เพราะปัจจุบันตัวชี้วัดนักเรียนชั้น ป.1-ม.6 มีถึง 2,056 ตัวชี้วัด แต่ควรให้สถานศึกษา ร่วมกับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) และศึกษาธิการจังหวัด (ศธจ.) ช่วยกันกำหนดตัวชี้วัดที่อยากเห็นผลสัมฤทธิ์การเรียนรู้ของผู้เรียน
“คิดว่าการประเมินผลการเรียนรู้นักเรียน ไม่ควรเอาตัวชี้วัดในการเรียนแบบปกติมาวัดการเรียนแบบออนไลน์ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ต้องมีแนวทางชัดเจนว่าไม่ยึดตัวชี้วัดแบบเดิม และไม่ต้องนับเวลาเรียน 200 วันต่อปี ในสถานการณ์โควิด-19 ต้องยึดผลสัมฤทธิ์การเรียนรู้ที่เหมาะสมกับบริบทของสถานศึกษา และชุมชนเป็นสำคัญ”
5. สถานศึกษาต้องจัดกลุ่มผู้ปกครองออกเป็นกลุ่มๆ ตามความพร้อม และหาวิธีการดูแลสนับสนุนการเรียนของบุตรหลานของผู้ปกครองแต่ละกลุ่ม ตามกำลังความสามารถของครู หรือการจัดกลุ่มเฉพาะเพื่อเรียนซ่อมเสริม ทั้งนี้ ต้องปรึกษาผู้ปกครองให้มีความเห็นร่วมกันในแนวทางปฏิบัติ
6. หากสถานศึกษาสอนแบบออนไลน์ และบันทึกวิดีโอการสอนในเว็บไซต์ของสถานศึกษา ควรเปิดโอกาสให้ผู้เรียนในสถานศึกษาอื่นเข้ามาเรียนรู้ได้ และ
7. สพฐ. สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) และสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) ต้องสนับสนุนให้สถานศึกษาที่มี Best practice มาเผยแพร่ เรียนรู้ สู่สถานศึกษาอื่นๆ โดยเร็ว
“ถ้ากระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ปรับเปลี่ยนรูปแบบการจัดการเรียนการสอนให้เป็นไปในลักษณะนี้ได้ จะทำให้เด็กหลุดออกจากระบบการศึกษาน้อยลง ซึ่งเป็นการแก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุ ไม่ใช่มาแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ โดยการตามเด็กที่หลุดออกจากระบบให้กลับมาเรียนในสถานศึกษา”
ที่มา ; มติชนออนไลน์ วันที่ 22 กรกฎาคม 2564