ขณะที่เรากำลังมีเทคโนโลยีล้ำสมัย รถยนต์ไร้คนขับ โรงแรมหรูบนดวงจันทร์ เอไอเชื่อมสมองมนุษย์ แต่รู้หรือไม่? ระบบการศึกษาของไทยยังไม่ไปไหน เด็กบางคนไม่ได้ลองผิดลองถูกจนไม่มี “ฝัน” เพราะเวลาทั้งหมดถูกใช้ไปกับการเรียน 2,000 ตัวชี้วัดตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. 2551 มากไปกว่านั้นหลักสูตรนี้ ใช้มาแล้วถึง 13 ปี
นี่เป็นโจทย์ใหญ่ที่ต้องรีบหาทางออก ทำให้ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาเกิดกุญแจสำคัญ ทั้งกระทรวง ครู อาจารย์ รวมถึงนักเรียนและผู้ปกครอง ค่อย ๆ ริเริ่ม นำร่อง “หลักสูตรฐานสมรรถนะ” เพื่อที่จะแก้ไขระบบการศึกษาเดิม ๆ ช่วยเพิ่มความหวังบนเป้าหมายเรียนแล้วได้ “ฝัน” และพร้อมออกไปใช้งานในชีวิตจริง”
แต่เมื่อต้นเดือน พ.ค. 65 นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี สั่งเบรกหลักสูตรฐานสมรรถนะ โดยให้เหตุผลว่าการเปลี่ยนหลักสูตรจะไปเพิ่มภาระของครู นักเรียน และผู้ปกครอง ดังนั้นจะใช้หลักสูตรเก่าต่อไป “หลักสูตรฐานสมรรถนะ” ความหวังที่ถูก “ดอง”
ตามข้อมูลบนเว็บไซต์ CBE Thailand ร่างกรอบหลักสูตรฐานสมรรถนะ มีลักษณะมุ่งพัฒนาผู้เรียนทุกคนให้มี “สมรรถนะหลัก” ที่จำเป็น และส่งเสริมให้ต่อยอดสมรรถนะอื่นๆ ตามศักยภาพของ “แต่ละบุคคล”
กรอบหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน “ฐานสมรรถนะ” จะยืดหยุ่น เอื้อให้สถานศึกษาสามารถออกแบบหลักสูตรที่เหมาะสมกับความต้องการของตนเอง ซึ่งจะช่วยทั้งครูและนักเรียนลดเนื้อหาความรู้จำนวนมาก ลดภาระต่าง ๆ และเวลาสอบตามตัวชี้วัด ที่สำคัญทำให้สถานศึกษามีพื้นที่จัดการเรียนรู้เชื่อมบริบทปัจจุบันได้มากขึ้น
สมรรถนะหลักที่ว่าประกอบด้วย 6 ด้าน ดังนี้
· การจัดการตนเอง คือ รู้จัก รัก เห็นคุณค่าในตัวเอง-ผู้อื่น และจัดการกับอารมณ์ ความเครียดในสถานการณ์ต่าง ๆ ที่เผชิญ ตลอดจนมีสุขภาวะ และความสัมพันธ์อันดีกับผู้คนในสังคม
· การคิดขั้นสูง คือ คิดและตัดสินใจอย่างมีวิจารญาณ ใช้ความรู้ความสามารถเพื่อแก้ปัญหาที่ซับซ้อน
· การสื่อสาร คือ สื่อสารอย่างฉลาดรู้ สร้างสรรค์ มีพลัง ยืนอยู่บนความรับผิดชอบต่อตนเองและสังคม
· การรวมพลังทํางานเป็นทีม คือ จัดระบบและกระบวนการทํางานให้สําเร็จตามเป้าหมาย มีความเป็นผู้ประกอบการ ภาวะผู้นํา และจัดการความขัดแย้งภายใต้สถานการณ์ที่มีความซับซ้อน
· การเป็นพลเมืองท่ีเข้มแข็ง คือ รู้เคารพสิทธิเสรีภาพของตนเองและผู้อื่น เห็นคุณค่าของศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สร้างการเปลี่ยนแปลงทางสังคม โดยยึดมั่นในความเท่าเทียม
· การอยู่ร่วมกับธรรมชาติและวิทยาการอย่างยั่งยืน คือ เข้าใจพื้นฐานเกี่ยวกับปรากฏการณ์ของโลกและจักรวาล เข้าถึงและรู้เท่าทันวิทยาการเทคโนโลยี เพื่อการดํารงชีวิตและอยู่ร่วมกับธรรมชาติอย่างยั่งยืน
ทั้งนี้ หลักสูตรฐานสมรรถนะถูกนำมาใช้งานจริงในโรงเรียนประถมเขตพื้นที่นำร่อง 8 จังหวัด ได้แก่เชียงใหม่ กาญจนบุรี ศรีสะเกษ ระยอง สตูล ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2563
ยกตัวอย่างโมเดล ASTECS ที่ประกอบด้วย เกษตรอินทรีย์ก้าวหน้า กีฬาก้าวไกล การท่องเที่ยวสร้างสรรค์ นวัตกรประกอบการ ร่ำรวยวัฒนธรรม จิตวิญญาณศรีสะเกษ ของจังหวัดศรีสะเกษ ที่ใช้ฐานทุนทางวัฒนธรรมของคนในพื้นที่ออกแบบบนพื้นฐานหลักสูตรฐานสมรรถนะ เพื่อให้เห็นภาพชัดขึ้นมาอีกระดับ นี่คือส่วนหนึ่งในการเรียนการสอนหลักสูตรฐานสมรรถนะ
· เกษตรอินทรีย์ก้าวหน้า: พาเด็กๆ ลงทุ่ง เพื่อให้เรียนรู้ถึงพันธุ์พืช ศัตรูพืช ตลอดจนภูมิศาสตร์ของท้องถิ่น ฯลฯ
· กีฬาก้าวไกล: จัดแข่งฟุตบอลในโรงเรียน ก่อนทำกิจกรรมให้นักเรียนเข้าใจกติกา วิธีเล่น แทรกความรู้เรื่องกายวิภาค และเมื่อแข่งขันกันเสร็จเพิ่มเติมความรู้เรื่องธุรกิจการตลาดของกีฬาฟุตบอล
· นวัตกรประกอบการ: สอนทำบัญชีรายรับ-รายจ่าย ของตนเองและครอบครัว
กว่าจะมาเป็น “หลักสูตรฐานสมรรถนะ”
เพราะหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. 2551 ใช้มาเป็นเวลานานกว่า 13 ปี โดยหลักสูตรนี้แบ่งสาระออกเป็น 8 กลุ่มสาระ ได้แก่ ไทย คณิต วิทย์ สังคม ศาสนาและวัฒนธรรม สุขศึกษาและพลศึกษา ศิลปะ การงานอาชีพและเทคโนโลยี ภาษาต่างประเทศ เน้นเนื้อหาความรู้ภาคทฤษฎี เวลาลงมือปฏิบัติมีน้อยหรือแทบไม่มีเลย และต้องยอมรับว่าการสอนเน้นให้เด็กท่องจำเพื่อไปสอบ
ทำให้เกิดการพยายามปรับหลักสูตรปี 2556 ลดเวลาเรียนและกลุ่มสาระลงเหลือเพียง 6 กลุ่ม ได้แก่ ภาษาและวรรณกรรม วิทย์เทคโนโลยีและคณิต การดำรงชีวิตและโลกของงาน ทักษะสื่อและการสื่อสาร สังคมและความเป็นมนุษย์ อาเซียนภูมิภาคและโลก
ยกร่างเป็นหลักสูตรใหม่ พ.ศ. 2557 วางแผนนำไปปฏิบัติ จะใช้หลักสูตรใหม่ครบทั้งระบบ แต่แผนการดังกล่าวมีอันล้มเลิกไปเสียก่อน ในปี 2560 เริ่มเข้าสู่โหมดหลักสูตรฐานสมรรถนะ ที่ยึดหลักการให้เด็ก ๆ นำความรู้ที่ได้ไปใช้งานในชีวิต ณ ตอนนั้นประกอบด้วย 10 สมรรถนะ ประกอบด้วย ภาษาไทยเพื่อการสื่อสาร คณิตศาสตร์ในชีวิตประจำวัน กระบวนการสืบสอบทางวิทยาศาสตร์และจิตวิทยาศาสตร์ ภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสาร ทักษะชีวิตและความเจริญแห่งตน อาชีพและการเป็นผู้ประกอบการ ทักษะการคิดขั้นสูงและนวัตกรรม การรู้เท่าทันสื่อสารสนเทศและดิจิทัล การทำงานแบบรวมพลัง เป็นทีม และมีภาวะผู้นำ การเป็นพลเมืองตื่นรู้และมีจิตสำนึกสากล ต่อมาถูกปรับเหลือสมรรถนะหลัก 6 ด้าน ในปี 2562 สพฐ.แต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อพัฒนา (ร่าง) กรอบหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานให้เป็นหลักสูตรฐานสมรรถนะ
และเมื่อ “ตรีนุช เทียนทอง” มานั่งเก้าอี้รัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการในปี 2564 หลักสูตรฐานสมรรถนะถูกจัดเป็นนโยบายเร่งด่วน
หลักสูตรฐานสมรรถนะคืบหน้าอย่างต่อเนื่องเมื่อเดือนตุลาคม 2564 กระทรวงศึกษาธิการประกาศให้ใช้ “หลักสูตรฐานสมรรถนะ” ในโรงเรียนประถมศึกษาตอนต้นของพื้นที่นำร่อง 8 จังหวัด โดยมีผลบังคับใช้จริงในเดือนธันวาคม 2564
ถ้าเป็นไปตามแผน กระทรวงศึกษาธิการมีแผนเริ่มใช้หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานฉบับใหม่ (หลักสูตรฐานสมรรถนะ) ปี 2565 และจะทยอยใช้ให้ครบทุกโรงเรียน ในปีการศึกษา 2567 แต่ล่าสุด ก่อนเปิดเทอมเพียงแค่ 12 วัน วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ไม่เห็นชอบให้มีหลักสูตรฐานสมรรถนะ โดยระบุว่าปัจจุบันมีการให้โรงเรียนในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงมหาดไทย ใช้หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 (ฉบับปรับปรุง 2560) ซึ่งกำหนดมาตรฐานการเรียนรู้ ความรู้ ทักษะ เจตคติ คุณลักษณะ และสมรรถนะไว้อย่างสมบูรณ์
“จะใช้หลักสูตรที่ใช้ในปัจจุบันต่อไป จนกว่าจะเห็นสมควรให้มีการปรับปรุง ดังนั้นจะไม่มีการเปลี่ยนหลักสูตรใดๆ หาเปลี่ยนหลักสูตรใหม่จะไปเพิ่มภาระของครู ผู้ปกครองและนักเรียน” วิษณุยืนยัน
“ดอง” หลักสูตรฐานสมรรถนะแล้วอย่างไรต่อ?
เมื่อผู้มีอำนาจประกาศต้าน “หลักสูตรฐานสมรรถนะ” แน่นอนว่า มีแรงกระเพื่อม ทำให้คนในวงการศึกษาออกมาแสดงความคิดเห็น อย่างในงานสัมมนา “ย่อยยับไปแค่ไหนกับการดองหลักสูตรฐานสมรรถนะ” ที่จัดโดย mappa live โดยมีมุมที่น่าสนใจสรุปไว้ดังนี้
“ครูทราย” ณิชา พิทยาพงศกร นักวิจัยอาวุโส ทีมนโยบายปฏิรูปการศึกษา สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) กล่าวในไลฟ์ว่า หลักสูตรปัจจุบันผูกกับเวลาเรียน 200 ชั่วโมง 2,000 ตัวชี้วัด ใน 1 ปี เด็กจำนวนไม่น้อยเรียนไม่รู้เรื่อง แล้วนี่ไม่ใช่ปัญหาของครู ปัญหาของครูมีเพียงจะทำอย่างไรให้ตัวเองสอนให้จบ แต่ในหลักสูตรสมรรถนะเด็กจะเรียนตามจังหวะของตัวเอง
สำหรับสัญญาณที่ออกมาว่า “ดอง” เป็นความคิดเห็นส่วนบุคคล แต่ถ้าพูดตามกฏหมายจะต้องรอดูคนที่รับผิดชอบอีกทีหนึ่ง “แต่ถ้าเปรียบเทียบเป็นการทำงานบริษัท มีข่าวลือออกมาว่ารองประธานไม่เอา ต่อให้ทีมกลยุทธ์เขียนแผนดีมาก ทีมที่ทำงานก็จะไม่กล้าที่ทำสิ่งใหม่ๆ” ครูทรายทิ้งท้าย ขณะที่ “ครูจุ๊ย” กุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิคณะก้าวหน้า กล่าวว่า การศึกษาไทยไม่ได้หยุดนิ่งแต่ถอยหลัง ระบบการศึกษาไทยอิงกับระบบราชการ คุณครูอยากพานักเรียนทำกิจกรรมอื่นๆ เพื่อเสริมทักษะแต่ติดกฎระเบียบที่ไม่อนุญาตให้ทำ "หากหลักสูตรฐานสมรรถนะถูกใช้จริง การศึกษาจะหลากหลายเหมาะกับพื้นฐานการเรียนรู้ของแต่ละบุคคล"
อย่างไรก็ดี ครูจุ๊ยวิพากษ์การสร้างหลักสูตรของไทยเพิ่มเติมว่า ทุกอย่างมักปุบปับ ไม่มีการเตรียมพร้อม ครูถูกสั่งให้ไปอบรมหลักสูตรฐานสมรรถนะ 1 วัน แล้ววันต่อมาก็ให้ครูทำหลักสูตรเลย ที่สำคัญการสร้างหลักสูตรนี้ขาดการมีส่วนร่วมของครู นักเรียน พ่อแม่ ซึ่งอนาคตจะเกิดความโกลาหลในทุกมิติ
ทั้งนี้การเบรกหลักสูตรฐานสมรรถนะ ครูจุ๊ยมองว่าเป็นการปลุกประชาชนขึ้นมาตอบคำถามว่าทุกคนต้องการระบบการศึกษาแบบไหน
อย่างไรก็ดีลองตัดภาพมาที่ประเทศระบบการศึกษาติดอันดับโลกอย่าง “ฟินแลนด์” หลักสูตรแกนกลางของเขาจะถูกปรับปรุงในทุก ๆ 10 ปี เพื่อให้หลักสูตรเหมาะสมกับเด็กในช่วงเวลาปัจจุบัน ขณะที่ประเทศไทยใช้หลักสูตรเก่านี้มาแล้ว 13 ปี ทั้งนี้หลักสูตรฐานสมรรถนะอาจจะยังไม่ใช่คำตอบที่ดีที่สุด แต่ถ้าพวกเรายังเชื่อว่า “เด็กคืออนาคตของชาติ” การช่วยกันสนับสนุนคนละเล็กคนละน้อยเพื่อให้เกิดการปรับหรือเปลี่ยนหลักสูตรใหม่ให้ทันโลกก็ถือว่าเป็น “ภารกิจ” ที่จำเป็นต่อทุกคน
ไม่ว่าจะผ่าน “เปิดเทอมใหม่” มากี่ครั้ง แต่เด็กไทยยังคงใช้ “หลักสูตรเก่า” มาแล้ว 13 ปี นำมาสู่การแก้ไข “หลักสูตรฐานสมรรถนะ” เพื่อความหวังสู่การศึกษาที่ดีขึ้น แต่กลับถูกเบรก! มาสำรวจหลักสูตรนี้ว่าเป็นเป็นอย่างไร มีความไปได้หรือไม่ และเด็กไทยเอาอย่างไรต่อ
ที่มา ; กรุงเทพธุรกิจ
เกี่ยวข้องกัน
สสวท. รับไม้ต่อจาก ศธ. ดันการเรียนรู้ฐานสมรรถนะ “หลักสูตร-สื่อ-แนวทางวัดผล” สร้างคนคุณภาพ
ตามที่กระทรวงศึกษาธิการมีนโยบายให้ปรับปรุงหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2551 เป็นหลักสูตรฐานสมรรถนะนั้น นับเป็นการจุดชนวนปรับเปลี่ยนการศึกษาโดยเฉพาะด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยี ซึ่งมีสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) เป็นส่วนหนึ่งที่ได้ดำเนินการร่วมกับหน่วยงานทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องตั้งแต่ปี 2563 จนเห็นเป็นรูปธรรมยิ่งขึ้นในวันนี้ และเป็นจุดเน้นที่สำคัญของ สสวท.
ดร.พรชัย อินทร์ฉาย รักษาการผู้อำนวยการ สสวท. กล่าวว่า เพื่อให้การจัดการเรียนรู้ฐานสมรรถนะและพัฒนาความฉลาดรู้ของผู้เรียนเห็นผล และเป็นไปในแนวทางเดียวกัน ตามนโยบายของกระทรวงศึกษา สสวท. จึงได้พัฒนาหลักสูตร สื่อ และกระบวนการจัดการเรียนรู้ฐานสมรรถนะ พลิกโฉมหนังสือเรียน คู่มือครู และสื่อประกอบการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยี ทุกระดับชั้นในรูปแบบใหม่ รวมถึงมีการพัฒนาสื่อการเรียนรู้เพื่อลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา โดยได้พัฒนาสื่อ 60 พรรษา และพัฒนาชุดสื่อ 65 พรรษา ตามพระราชดำริสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เพื่อเป็นทางเลือกในการเรียนรู้ที่ช่วยให้ครู และนักเรียนได้เข้าถึงวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีได้มากขึ้น อีกทั้งสอดคล้องกับบริบทท้องถิ่น
นอกจากการพัฒนาหลักสูตร และสื่อต่าง ๆ แล้ว สสวท. ยังได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยราชภัฏ 38 แห่งทั่วประเทศ มีการจัดอบรมพัฒนาศักยภาพครูเพื่อจัดการเรียนการสอนฐานสมรรถนะในทุกพื้นที่ของประเทศ ให้เป็นครูยุคใหม่ในศตวรรษที่ 21 โดยมุ่งเน้นพัฒนา ความสามารถในการจัดการเรียนรู้ ส่งเสริมความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการวัด และประเมินผลการเรียนรู้ตามแนวทางของโครงการประเมินสมรรถนะนักเรียนมาตรฐานสากล (PISA) และนำร่องพัฒนาต้นแบบการจัดการเรียนการสอนฐานสมรรถนะให้แก่โรงเรียน สำหรับการวัดและในการประเมินผลฐานสมรรถนะนั้น สสวท. ร่วมกับที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ปรับรูปแบบข้อสอบเข้ามหาวิทยาลัยให้เน้นการคิดวิเคราะห์ และการวัดผลเชิงสมรรถนะ ซึ่งนำไปสู่การกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการวัดและประเมินผลที่เน้นการวัดสมรรถนะ มากกว่าความรู้ ความจำ และกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการจัดการเรียนการสอนในโรงเรียน
สสวท. ริเริ่มโครงการ Project 14 เพื่อแก้ปัญหาการเรียนออนไลน์ โดยปี 2565 สสวท. ได้ปรับปรุงเว็บไซต์ Project 14 ให้สามารถตอบสนองต่อการใช้งานได้มากขึ้นโดยใช้ชื่อว่า “Project 14+” และพัฒนาสู่ระบบ “My IPST” ซึ่งตั้งแต่เริ่มดำเนินงานในช่วงสถานการณ์ COVID-19 ปี 2563 จนถึงปัจจุบัน สสวท. ได้พัฒนาสื่อ และอัพโหลดคลิปการสอนครบทุกหัวข้อตามหนังสือเรียน สสวท. แล้วทั้งสิ้น 2,683 คลิป และมีจำนวนผู้เข้าชมประมาณ 40 ล้านครั้ง และ สสวท. ยังได้ร่วมมือกับกระทรวงศึกษาธิการนำสื่อ Project 14 เผยแพร่ผ่านระบบ Digital Education Excellence Platform: DEEP ของกระทรวงศึกษาธิการอีกด้วย
รักษาการผู้อำนวยการ สสวท. กล่าวต่อไปว่า “ปี 2565 ต่อเนื่องจนถึงปี 2566 สสวท. กำลังพัฒนาระบบจัดการเรียนรู้แบบออนไลน์ My IPST ให้เป็นช่องทางหลักสำหรับการถ่ายทอดเนื้อหาวิชาวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยีเพื่อที่จะรองรับการใช้งานของสถานศึกษาทั่วประเทศ ปัจจุบันอยู่ระหว่างการทดลองใช้ต้นแบบของระบบ My IPST โดยในอนาคตระบบนี้จะใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI: Artificial Intelligence) รวบรวม วิเคราะห์ข้อมูลเพื่อนำไปพัฒนาการเรียนรู้ ศึกษาพฤติกรรมของผู้เรียน ประเมิน วางแผนการจัดการเรียนรู้ และพยากรณ์อนาคตที่สอดคล้องกับสภาพจริง”
นอกจากนี้ สสวท. ยังให้บริการศูนย์เรียนรู้ดิจิทัลด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์และเทคโนโลยี (IPST Learning Space) ที่สอดคล้องกับหลักสูตรในโรงเรียน ประกอบด้วย 3 ระบบหลัก ระบบอบรมครู ระบบการสอบออนไลน์ และระบบคลังความรู้ SciMath ซึ่งปี 2564 มีปริมาณการใช้งานระบบต่าง ๆ เพิ่มขึ้น นับเป็น Sessions ถึง 23.20 ล้านราย สูงขึ้น จากปี 2563 ที่มีปริมาณการเข้าใช้งาน 16.71 ล้านราย ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงพฤติกรรมของผู้ใช้งานที่เปลี่ยนไป ความต้องการใช้สื่อดิจิทัลทั้งใน และนอกชั้นเรียนเพิ่มมากขึ้นในยุคปัจจุบัน แพลตฟอร์มของ สสวท. ที่พัฒนาขึ้นได้ให้บริการสื่อ และการเรียนรู้รูปแบบใหม่วิชาวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยี ตรงตามความต้องการของผู้ใช้งาน เช่น ครูที่ขาดแคลนสื่อการสอน นักเรียนที่ต้องการทดลองสอบข้อสอบของโครงการสำคัญ ครู นักเรียนที่ต้องการสื่อเพื่อเรียนรู้ด้วยตนเอง ผู้ปกครองที่ต้องการสื่อที่ตรงตามหลักสูตรเพื่อใช้ในการจัดการเรียนการสอนแบบโฮมสคูล หรือเสริมการเรียนรู้ให้บุตรหลาน และที่สำคัญการให้บริการดังกล่าวของ สสวท. ไม่มีค่าใช้จ่าย จึงช่วยลดภาระของผู้ใช้งานที่ไม่ต้องไปซื้อหนังสือหรือสื่อ จากแหล่งอื่น ทำให้ได้รับเสียงสะท้อนที่ดีจากผู้ใช้งาน สสวท. ยังคงดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง และพัฒนาอย่างไม่หยุดยั้ง
“ตามแผนปฏิบัติการระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2566–2570) ของ สสวท. จะมีการพัฒนาหลักสูตร สื่อ กระบวนการจัดการเรียนรู้ และการวัดและประเมินผลฐานสมรรถนะสู่รูปแบบดิจิทัล เน้นการคิดวิเคราะห์ แก้ปัญหา เน้นการนำไปใช้ที่ตอบสนองการเรียนรู้รูปแบบใหม่ พัฒนาสื่อสำหรับนักเรียนที่ขาดโอกาสทางการศึกษา พัฒนาครูด้านการจัดการเรียนรู้ฐานสมรรถนะในทุกระดับชั้น ส่งเสริมแนวทางการจัดการเรียนการสอนฐานสมรรถนะในรูปแบบต่าง ๆ และสนับสนุน ให้โรงเรียนได้ใช้ประโยชน์จากแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ สสวท. ได้พัฒนาขึ้น รวมทั้งศึกษากระบวนการวิเคราะห์ Big Data เพื่อพัฒนา AI สำหรับใช้งานในระยะยาว โดยจะเป็นปรากฏการณ์ใหม่ของสื่อแห่งอนาคตในการศึกษาไทยที่น่าจับตามอง” รักษาการผู้อำนวยการ สสวท. กล่าวทิ้งท้าย
ในยุคที่โลกก้าวหน้าไปไว การศึกษาวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยีของไทยจะต้องไม่หยุดชะงักและ สสวท. เป็นส่วนหนึ่งที่ร่วมขับเคลื่อน และพัฒนาการศึกษาไทยเสมอมา
ที่มา ; สสวท.