ค้นหา

นวัตกรรม “จิตศึกษา” อะไร ทำไม อย่างไร

 หลังจากที่เรารู้กันแล้วว่าทำไมโรงเรียนขนาดเล็ก ถึงเลือกใช้นวัตกรรมในการจัดการเรียนการสอน (หนึ่งเหตุผลใหญ่คือ นวัตกรรมสามารถยกระดับคุณภาพการศึกษาสำหรับโรงเรียนพบข้อจำกัดด้านทรัพยากร) วันนี้เรามาเริ่มทำความรู้จักนวัตกรรมที่เป็นที่รู้จัก และถูกนำไปใช้โดยชาวโรงเรียนขนาดเล็กจนเกิดผลสำเร็จอย่าง “จิตศึกษา” กันดีกว่า 

จิตศึกษา คืออะไร?

กระบวนการที่พัฒนาขึ้นโดยโรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา จ.บุรีรัมย์ ในปี พ.ศ. 2546 เพื่อให้เป็นแนวคิดและกระบวนการพัฒนาทั้งครูและเด็กให้เกิดการเรียนรู้และงอกงามด้านปัญญาภายใน ได้แก่ ความฉลาดทางด้านอารมณ์ (EQ) และความฉลาดด้านจิตวิญญาณ (SQ) ซึ่งหมายถึง การมีสติ รับรู้อารมณ์และความรู้สึกของตนเองและผู้อื่น, การเห็นคุณค่าในตัวเอง คนอื่น และสิ่งต่าง ๆ และความสัมพันธ์เชื่อมโยงกันของทุกสิ่ง, การอยู่ร่วมกันอย่างภราดรภาพ ยอมรับในความแตกต่าง เคารพและให้เกียรติกัน การมีวินัย มีความรับผิดชอบต่อตนเองและส่วนรวม, การมีสัมมาสมาธิ อดทนทั้งกายและใจ และการมีจิตใหญ่ มีความรักความเมตตามหาศาล

ต่อมา นวัตกรรมจิตศึกษาได้รับการถ่ายทอดไปยังโรงเรียนอื่นในประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง โรงเรียนขนาดเล็กที่ต้องการยกระดับคุณภาพ หลังจากเห็นว่าการเรียนการสอนรูปแบบเดิมไม่พัฒนาเด็กอย่างที่ควรจะเป็น ถูกจำกัดโดยปัจจัยด้านทรัพยากร ก้าวไม่ทันตามยุคสมัยและสังคมดิจิทัลที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว

 

กระบวนการจิตศึกษา

กระบวนการจิตศึกษาจะผันเปลี่ยนไปตามบริบทและสภาพแวดล้อมของแต่ละท้องถิ่น แต่มีกระบวนทัศน์ 3 ข้อเป็นเสาหลักในการพัฒนาเหมือนกัน คือ กิจกรรมจิตศึกษา การใช้จิตวิทยาเชิงบวก และการสร้างชุมชนและวิถีชุมชน

หนึ่งในโรงเรียนที่รับนวัตกรรมมาใช้ คือ โรงเรียนวัดดอนโพธิ์ทอง จ.สุพรรณบุรี ที่มี ผอ. ฤทัยวรรณ หาญกล้า เป็นผู้ลุกขึ้นมาสร้างความเปลี่ยนแปลง โดยเริ่มใช้นวัตกรรมจิตศึกษา ร่วมกับการเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐาน (PBL) และชุมชนแห่งเรียนรู้ทางวิชาชีพ (PLC) เรามามองกระบวนทัศน์จิตศึกษาทั้ง 3 ผ่านประสบการณ์ของโรงเรียนแห่งนี้กัน

          1. ในกระบวนทัศน์กิจกรรมจิตศึกษา โรงเรียนจัดช่วงเวลาเพื่อทำกิจกรรมในช่วงเช้าหลังเข้าแถวเคารพธงชาติของทุกวัน ประมาณ 20 นาที เพื่อเสริมสร้างพลังสงบ ความผ่อนคลาย เตรียมพร้อมสำหรับการเรียนรู้ในแต่ละวัน กิจกรรมจิตศึกษายังช่วยฝึกสติ ทำให้ผู้เรียนรู้เท่าทันอารมณ์และการกระทำที่กำลังเกิดขึ้นในแต่ละขณะ เพื่อจะได้รู้ว่าควรหยุดหรือดำเนินกิจกรรมนั้นต่อ และยังฝึกให้มีสมาธิได้นานขึ้น เสริมสร้างความเพียรในการเรียนรู้และการทำงานให้สัมฤทธิ์ผล ก่อนเริ่ม ครูและนักเรียนจะนั่งเป็นวงกลมในระดับที่เท่าเทียมกัน กิจกรรมนั้นมีหลากหลายและมีความยากง่ายและซับซ้อนไปตามระดับชั้นเรียน ยกตัวอย่างเช่น การวางตัวต่อ โยคะ วาดภาพ เกมเบรนยิม (Brain Gym) แบบต่าง ๆ เช่น จีบมือ-แอล หรือกรรไกร-ไข่-ผ้าไหม เป็นต้น

          2. กระบวนทัศน์ข้อสองคือ การใช้จิตวิทยาเชิงบวก เป็นศาสตร์ที่เน้นการพัฒนาบุคลิกภาพของมนุษย์ให้มีความสุข โดยมีพื้นฐานมาจากการพัฒนาตนเอง เป็นคนดี และมองโลกในแง่ดี ในโรงเรียนสุขภาวะ ครูใช้จิตวิทยาเชิงบวกปฏิบัติต่อเด็กอย่างมีคุณค่าความเป็นมนุษย์และศักดิ์ศรีเท่าเทียมกัน บ่มเพาะความดีงามให้กับเด็ก และเสริมสร้างความดีงามที่มีอยู่เดิมให้งอกงามยิ่งขึ้น สร้างภาพพจน์ด้านบวกให้กับนักเรียนทุกคนโดยการให้ความรัก ให้เกียรติ รับฟัง แสดงความชื่นชมเมื่อมีโอกาส และสร้างโอกาสให้เด็กได้ทำงานได้สำเร็จด้วยตัวเองเสมอ ๆ

โรงเรียนที่ใช้จิตศึกษานั้นให้จะเกียรติและเรียกนักเรียนว่า “พี่” ไม่ว่าจะกับระดับชั้นไหน ครูจะชื่นชมและขอบคุณเด็กที่ทำดี เพื่อให้คนอื่นเห็นเป็นแบบอย่าง และที่สำคัญ ครูจะไม่ใช้ความรุนแรง ขึ้นเสียง ตัดสิน หรือเปรียบเทียบเด็กเพื่อติเตียนหรือตีค่า สำหรับนักเรียนในบางระดับชั้น ครูสามารถมอบพลังบวกและความรักผ่านการกอด

พอใช้คำพูดไพเราะหู เด็กยิ้ม เด็กกล้าพูด ไม่กลัวครูอย่างที่เคยเป็น” ผอ. ฤทัยวรรณ กล่าว “เป็นการทำให้เด็กอยากพัฒนาตัวเอง และมองโลกในแง่ดี”

          3. สุดท้ายแต่ไม่ท้ายสุด คือกระบวนทัศน์การสร้างชุมชนและวิถีชุมชน ซึ่งมีแนวคิดมาจากความเชื่อที่ว่า โรงเรียนสามารถสร้างสัมพันธภาพที่ดีของคนในชุมชนผ่านการปฏิบัติของวิถีโรงเรียนอย่างกลมกลืน ต่อเนื่องและสม่ำเสมอ นอกจากนี้ยังเป็นการพัฒนาเด็กโดยสร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการเรียนรู้ ปลอดภัย มีครูและเพื่อน ๆ เป็นกัลยาณมิตรที่ดีต่อกัน วิถีของโรงเรียนวันดอนโพธิ์ทองนั้นมีหลายข้อ ทั้งสำหรับนักเรียน ครู และที่ทั้งสองปฏิบัติร่วมกัน เช่น การเข้าแถวหน้าเสาธงพร้อมกันเวลา 7.55 น. ที่ใช้เวลาไม่นาน (“เราจะไม่มีการเทศนาหน้าเสาธง” ผอ.ฤทัยวรรณ เสริม), การร่วมรักษาสิ่งแวดล้อม, กิจกรรมชมรม “ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้” ที่มีทุกวันศุกร์บ่าย, การทำ Body Scan ที่ช่วยให้ผ่อนคลาย และรับรู้ความรู้สึกร่างกาย เป็นต้น

บนเส้นทางของโรงเรียนวัดดอนโพธิ์ทอง ตั้งแต่เริ่มศึกษาจิตศึกษาและนำมาใช้กับผู้เรียน การเปลี่ยนแปลงไม่ได้เกิดขึ้นภายในชั่วข้ามคืน แต่ผลที่ออกมาหลังจากความพยายามนั้นเป็นที่ประจักษ์ และน่าชื่นใจ 

ก่อนจะไปถึงที่ตัวเด็ก ต้องบอกว่ากิจกรรมจิตศึกษาก็ทำให้ตัว ผอ. เองเปลี่ยน ในแง่ของการสอน หรือการพูดคุยกับครูก็เปลี่ยนไป อีกคนที่เปลี่ยนไปคือครูของโรงเรียนเรา พวกเขาเป็นครูที่แท้จริงมากขึ้น สอนคนอย่างไม่ได้สอนที่ตัวหนังสือ สุดท้าย ผลที่เห็นในตัวเด็กคือ พวกเขากล้าพูด กล้าแสดงออก ไม่กลัวว่าจะผิดหรือถูก หรืออะไรก็แล้วแต่ ขอให้เขาได้คิด เขาก็มีความสุขแล้ว ในภาพรวมคือ ทั้งผอ. ทั้งครู ทั้งเด็ก ก็มีความสุขในการเรียนการสอน”

.

คลิก ชมตัวอย่างกิจกรรมจิตศึกษา: https://youtu.be/5FW5kMpdpgs

อ่าน บทความ "ทำไมโรงเรียนขนาดเล็กจำนวนมากถึงเลือกใช้นวัตกรรม?": https://bit.ly/3lFgJZV

 

ที่มา ; FB Access School ชุมชนสร้างโรงเรียน โรงเรียนสร้างชุมชน

ความเห็นของผู้ชม

 แสดงความคิดเห็น