เมื่อวันที่ 11 ก.ค. นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ตนได้ประชุมปฏิบัติการขับเคลื่อนการนิเทศการจัดการเรียนรู้เชิงรุก (Active Learning) ของศึกษานิเทศก์ผู้รับผิดชอบ Active Learning 245 เขตพื้นที่ ซึ่งจัดโดยหน่วยศึกษานิเทศก์ สพฐ. มีผู้เข้าร่วมการประชุม ผ่านระบบออนไลน์ Zoom Meeting และ Google Meet กว่า 600 แอคเคานท์ และลงทะเบียนเข้าร่วมประชุม กว่า 1,000 คน โดยศึกษานิเทศก์เป็นกลไกสำคัญของการนำนโยบายลงสู่การปฏิบัติ เป็นผู้ที่เชื่อมรอยต่อระหว่างสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาและสถานศึกษา เป็นพี่เลี้ยงให้กับครูในการขับเคลื่อน Active Learning ลงสู่ห้องเรียนเพื่อการพัฒนาคุณภาพ และสมรรถนะผู้เรียนเป็นสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เป้าหมายในการพัฒนาครูด้าน Active Learning ครบ 100% ภายในเดือนกันยายน 2565 สำหรับเขตพื้นที่ ที่มีครูยังไม่ได้รับการพัฒนา และเขตพื้นที่ที่ได้มีการพัฒนาขับเคลื่อนครบทุกคน ศึกษานิเทศก์ลงไปติดตาม ช่วยเหลือ เสริมแรง ให้ครูปรับการเรียนเปลี่ยนการสอน จัดกิจกรรมการเรียนรู้ แบบ Active Learning อย่างเป็นรูปธรรม
รองเลขาธิการ กพฐ.กล่าวต่อไปว่า เป้าหมายที่ต้องการให้เกิดขึ้นคือคุณภาพผู้เรียน โดยเน้นที่สมรรถนะสำคัญของผู้เรียน และการที่จะทำให้ครูไปถึงการจัดการเรียนรู้เพื่อให้เกิดสมรรถนะผู้เรียนได้นั้น ศึกษานิเทศก์จะต้องเข้าถึงห้องเรียน โดยศึกษานิเทศก์มีความเข้าใจในคอนเซปต์ของการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ Active Learning แล้วดำเนินการให้นักเรียน ได้คิด+ลงมือปฏิบัติ+สื่อสารความเข้าใจถูกต้อง ตามจุดประสงค์การเรียนรู้ที่ตั้งไว้ในชั่วโมงสอน ซึ่งสามารถดำเนินการได้ในทุกๆ แผนการจัดการเรียนรู้
เมื่อเด็กได้ฝึกคิดในทุกคาบ เด็กก็จะคิดเป็นระบบ ส่วนการบูรณาการตัวชี้วัด/ข้ามรายวิชา ลดทอนเนื้อหาที่ซ้ำซ้อน ลดภาระชิ้นงาน เพื่อให้นักเรียนมีเวลาเหลือ บวกกับได้รับการฝึกคิดแบบอัตโนมัติ จะทำให้สามารถสร้างสรรค์ผลงานที่น่าภาคภูมิใจ และครูเติมบ่มเพาะคุณลักษณะอันพึงประสงค์จนเป็นวิถีธรรมชาติ เราจะได้เด็กที่เป็นไปตามเป้าหมาย คือ คุณลักษณะที่ดี ครบตามมาตรฐาน และมีสมรรถนะ ด้วย Ultimate Outcome โดยการสร้างสถานการณ์ เปิดเวทีให้นักเรียนได้แสดงความคิดสร้างสรรค์ และเห็นคุณค่าจากสิ่งที่ได้ปฏิบัติ สามารถต่อยอดไปยังทักษะอาชีพได้ในอนาคต
“ทั้งนี้ ขอชื่นชมและขอบคุณศึกษานิเทศก์ทุกคนทั่วประเทศที่มีความมุ่งมั่น เป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาคุณภาพการศึกษา และคุณภาพผู้เรียนให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม อีกทั้งเสียสละทุ่มเทให้กับการทำงานเชิงพื้นที่ สพฐ. โดยการนำของเลขาธิการ กพฐ. พร้อมที่จะอยู่เคียงข้างศึกษานิเทศก์ในการพัฒนาคุณภาพการศึกษาของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ต่อไป” รองเลขาธิการ กล่าว
ที่มา ; เดลินิวส์ 11 กรกฎาคม 2565
ข่าวเกี่ยวกัน
‘สพฐ.’ ตั้งเป้าอบรมครูสอน Active Learning 100% ชี้ให้เด็กมีสมรรถนะ-ช่วยลดความเหลื่อมล้ำ
นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ตั้งเป้าขับเคลื่อนให้โรงเรียนจัดการเรียนการสอนแบบ Active Learning โดยวางแผนการขับเคลื่อนเป็น 2 เฟส ดังนี้
เฟสที่ 1 สพฐ.ตั้งเป้าไว้ว่าภายในเดือนกันยายนนี้ ครูต้องได้รับการอบรมการจัดการเรียนการสอนแบบ Active Learning ให้ครบ 100% ซึ่งที่ผ่านมาตนลงพื้นที่ ร่วมกับคณะทำงาน ONE TEAM ประกอบด้วย สำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา (สวก.) , สำนักทดสอบทางการศึกษา (สทศ.) , สำนักบริหารความเป็นเลิศด้านวิทยาศาสตร์ศึกษา (สบว.) , สำนักงานบริหารพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา (สบน.) และ หน่วยศึกษานิเทศก์ ไปตรวจโรงเรียนหลายจังหวัด พบว่าสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) จำนวน 81 แห่ง ทั่วประเทศ ได้ดำเนินการอบรมครูครบเรียบร้อยแล้ว และจะเร่งขับเคลื่อนต่อไปให้ครบทั่วประเทศต่อไป
โดยระดับนโยบายให้ทุกหน่วยงายขับเคลื่อน Active Learning พร้อมกับมอบหมายให้ตนขับเคลื่อนเรื่องดังกล่าว เพื่อให้ Active Learning เกิดแรงกระเพื่อมทั้งประเทศ นอกจากจะขับเคลื่อน Active Learning แล้ว ตนจะขับเคลื่อนให้ครูจัดการเรียนการสอนให้เด็กเกิดสมรรถนะ หรือ Ultimate Outcome และมีคุณลักษณะอันพึงประสงค์ 8 ด้วย จากการลงพื้นที่ ตนพบว่าบางโรงเรียนได้จัดการเรียนการสอนแบบ Active Learning ไปแล้ว แต่โรงเรียนไม่รู้ว่าสิ่งที่ทำอยู่คือ Active Learning ดังนั้น จะเห็นว่า โรงเรียนบางแห่งไม่ได้เริ่มต้นจากศูนย์ แต่จะทำอย่างไรให้ทุกๆวิชา สามารถสร้างและกระตุ้นให้เด็กเกิดกระบวนการคิดได้
เฟสที่ 2 ระดับพื้นที่ ต้องผลักดันการจัดการเรียนรู้ที่สอดแทรก Active Learning เข้าไปในห้องเรียนโดยตรง ทั้งนี้ครูต้องวางแผนบูรณาการการจัดการเรียนการสอนร่วมกันด้วย เพราะ สพฐ. เชื่อว่า การที่เด็กจะเกิดความคิดสร้างสรรค์ได้ สร้างองค์ความรู้ของตนเองได้ จะต้องมีเวลา และการที่เด็กจะสามารถมีเวลาได้นั้น ทุกวิชาต้องบูรณาการร่วมกันเพื่อวางแผนตัดทอนเนื้อหาที่ซ้ำซ้อน โดยให้รวบตัวชี้วัดเข้าไว้ด้วยกัน และสอนเนื้อหาที่สอดคล้องกับบริบทของแต่ละโรงเรียน ซึ่งจะส่งผลให้นักเรียนไม่ต้องเรียนเนื้อหาที่ซ้ำซ้อน และเด็กสามารถนำความรู้มาประยุกต์ใช้ได้ ซึ่งจะส่งผลดีกับนักเรียน คือ นักเรียนจะมีการบ้านน้อยลง ทำให้เด็กมีเวลาคิด มีเวลาสร้างสรรค์ สามารถต่อยอดความรู้และทักษะของตนเองได้ หากขับเคลื่อนเรื่องนี้ได้ จะสามารถลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ส่งเสริมให้เด็กทุกคนมีโอกาสคิด มีสมรรถนะ และมีทักษะต่อยอดความรู้ต่อไปได้” นางเกศทิพย์ กล่าว
ที่มา ; มติชนออนไลน์ วันที่ 20 กรกฎาคม 2565