ค้นหา

3 ด่านสำคัญที่จะฟันฝ่าไปสู่ ”ครูผู้ช่วย” ดั่งใจหวัง

 มีหลายแสนคน..ใฝ่ฝันอยากทำงานราชการ เพราะเป็นอาชีพที่มีเกียรติ มั่นคง มีเงินเดือน มีสวัสดิการและสิทธิประโยชน์นานา แม้เกษียณอายุราชการไปแล้วรัฐบาลยังเลี้ยงดูไปจนวันตาย

มีหลายแสนคน…อยากเป็นครู เพราะนอกจะเป็น “ข้าราชการ” แล้ว ยังเป็นการสนองตอบพลังความต้องการ แรงบันดาลใจ ความรัก ความชอบ อยากบอก อยากสอน อยากสร้างศิษย์ที่ดี อุดมการณ์ มันเป็นไฟ โชติช่วงในใจตลอดเวลา

แต่ก็มีอีกหลายแสนคน…ที่อยากเป็น “ข้าราชการครูฯ” แต่ก็ไม่สามารถข้ามไปยังฝั่งฝันได้…เพราะติดด่านสำคัญ?……อะไรหรือ คือ ด่านสำคัญที่ว่า ?

ต่อไปนี้ คือ 3 เงื่อนไขหลัก ดั่งเหมือนเป็นด่านสำคัญที่เปิดโอกาสให้บุคคลเดินข้ามไปสู่ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่ง ”ครูผู้ช่วย” ได้ ซึ่งทั้งสามด่านล้วนมีความสำคัญ ต้องฝ่าไปที่ละด่าน หากสามารถผ่านด่านแรก ด่านสองได้ จะไร้ประโยชน์หากต้องเหนื่อยและพ่ายแพ้ในด่านสาม ความใฝ่ฝันที่อยากเป็น “ครูผู้ช่วย” จะสลายไปทันที

 

1. ด่านแรก ; จะเป็นครูผู้ช่วยได้ผู้นั้นต้องเป็นผู้มีคุณสมบัติทั่วไป

“ครูผู้ช่วย” เป็นตำแหน่งแรกบรรจุของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาสายงานการสอน ตาม พรบ.ระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. 2547 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ในมาตรา 30 ได้กำหนดว่า ผู้ที่จะรับราชการเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาได้ ผู้นั้นต้องมีคุณสมบัติทั่วไป ซึ่งขอขยายความ คือ

1) มีสัญชาติไทย คือ ผู้นั้นต้องเป็นคนไทย มีบัตรประชาชนและสำเนาทะเบียนบ้านเป็นหลักฐานสำคัญ

2) มีอายุไม่ต่ำกว่าสิบแปดปีบริบูรณ์ คือ ผู้นั้นมีอายุตามนั้น อาจดูขัดกันหากเทียบกับคุณสมบัติการมีใบประกอบวิชาชีพ (คุณสมบัติเฉพาะที่ผู้จะได้ใบประกอบวิชาชีพจะต้องมีอายุไม่ต่ำกว่ายี่สิบปีบริบูรณ์) เขาอาจเขียนไว้เผื่อต่อไปอนาคต การจะเป็นครูอาจไม่จำเป็นต้องมีใบประกอบวิชาชีพก็ได้ในบางสาขาวิชา เช่น สาขาเฉพาะ สาขาดขาดแคลน สาขาวิชาชีพ เป็นต้น จึงกำหนดอายุการเป็นครูช่วงนี้

3) เป็นผู้เลื่อมใสในการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย คือ ผู้นั้นต้องทำตัวเป็นคนไทยปกติ ไปเลือกตั้ง ไม่มีพฤติกรรมที่เป็นปฏิปักษ์ต่อประชาธิปไตย การไม่เลื่อมใสอาจต้องคำสั่งศาลประกอบการตีความ

4) ไม่เป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง สมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่น คือ ผู้นั้นต้องไม่เป็น สส. สว. สท. สอบจ. สอบต. นายก อบจ. นายก อบต นายกเทศมนตรี กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ประมาณนี้ หากเป็นอยู่ก็ลาออกแล้วค่อยมาสมัครเป็นครู หรือสอบได้แล้วจะบรรจุเป็นครูค่อยลาออกจากตำแหน่งฯนั้น ๆ ก็ได้

5) ไม่เป็นคนไร้ความสามารถ หรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ หรือเป็นโรคตามที่กำหนดใน กฎ ก.ค.ศ.ว่าด้วยโรค พ.ศ. 2549 คือ ผู้นั้นต้องไม่เป็นคนไร้ความสามารถ ตามคำวินิจฉัยหรือคำสั่งศาล หรือไม่มีจิตฟั้นเฟือนตามที่แพทย์รับรองฯ หรือผู้นั้นต้องไม่เป็นโรคต้องห้ามตามที่ระบุตาม กฎ ก.ค.ศ. ได้แก่ โรคเรื้อนในระยะติดต่อหรือในระยะที่ปรากฏอาการเป็นที่รังเกียจแก่สังคม วัณโรคในระยะติดต่อ โรคเท้าช้างในระยะที่ปรากฏอาการเป็นที่รังเกียจแก่สังคม โรคติดยาเสพติดให้โทษ และโรคพิษสุราเรื้อรัง อันนี้ต้องมีหลักฐานแสดงว่าไม่เป็นโรคพวกนี้ โดยมีใบรับรองแพทย์อ้างยืนยัน

6) ไม่เป็นผู้อยู่ในระหว่างถูกสั่งพักราชการ ถูกสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อน ตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. 2547 หรือที่แก้ไขเพิ่มเติม หรือตามกฎหมายอื่น หรือ ถูกสั่งพัก หรือเพิกถอนใบอนุญาตประกอบวิชาชีพตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในกฎหมายองค์กรวิชาชีพนั้น ๆ คือ กรณีบุคคลที่เป็นข้าราชการครูหรือข้าราชการอื่นอยู่แล้ว หากประสงค์จะใช้สิทธิ์สอบย้ายหรือโอน ผู้นั้นต้องไม่อยู่ระหว่างถูกสั่งให้พักราชการ ให้ออกจากราชการไว้ก่อน หรือ ผู้นั้นต้องไม่อยู่ระหว่างถูกสั่งพักหรือเพิกถอนใบอนุญาตประกอบวิชาชีพฯ

7) ไม่เป็นผู้บกพร่องในศีลธรรมอันดี สำหรับการเป็นผู้ประกอบวิชาชีพครูและบุคลากรทางการศึกษา คือ กรณีผู้นั้นเป็นข้าราชการครูต้องไม่ถูกร้องเรียนกล่าวโทษจนผลการสอบว่าผิดวินัย หรือจรรยาบรรณ เช่น วินัยกรณีชู้สาว ละเมิดทางเพศนักเรียนอย่างนี้ก็เข้าข่ายบกพร่องในศีลธรรมอันดี กรณีหากบุคคลทั่วไป เช่น ถูกจับดำเนินคดีจนพิพากษาว่ากระทำผิด หากพฤติกรรมที่กระทำผิดเกี่ยวกับศีลธรรมอันดีที่คนเป็นครูควรพึงกระทำหรืองดเว้น ก็อาจเข้าข่ายกรณีนี้ได้

8) ไม่เป็นกรรมการบริหารพรรคการเมืองหรือเจ้าหน้าที่ในพรรคการเมือง คือ ผู้นั้นต้องไม่เป็นเจ้าหน้าที่ หรือกรรมการบริหารพรรคการเมือง ซึ่งมีประกาศหรือคำสั่งที่ชัดเจน

9) ไม่เป็นบุคคลล้มละลาย คือ ผู้นั้นต้องไม่เป็นคนล้มละลายตามคำสั่งของศาล

10) ไม่เป็นผู้เคยต้องโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ คือ ผู้นั้นต้องไม่เคยต้องโทษจำคุก (คำว่าถึงที่สุดให้จำคุกต้องไปอยู่ในคุกจริง ๆ หากรอลงอาญา ไม่อยู่ในข่ายต้องห้าม)

11) ไม่เป็นผู้เคยถูกลงโทษให้ออก ปลดออก หรือไล่ออกจากรัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชนหรือหน่วยงานอื่นของรัฐหรือองค์กรระหว่างประเทศ คือ ผู้นั้นต้องไม่เคยถูกให้ออก ปลดออกหรือไล่ออกจากตำแหน่งหน่วยงานเหล่านี้ ซึ่งไม่ใช่ข้าราชการ

12) ไม่เป็นผู้เคยถูกลงโทษให้ออก ปลดออก หรือไล่ออก เพราะการกระทำผิด ตามพระราชบัญญัตินี้หรือตามกฎหมายอื่น คือ ผู้นั้นต้องไม่เคยถูกให้ออก ปลดออก หรือไล่ออกจากตำแหน่งหน้าที่ข้าราชการ

13) ไม่เป็นผู้เคยกระทำการทุจริตในการสอบเข้ารับราชการหรือเข้าปฏิบัติงานในหน่วยงานของรัฐ คือ ผู้นั้นต้องไม่เคยมีคดีความจนศาลตัดสินว่ากระทำการทุจริตในการสอบเข้าทำงาน หรือสอบรับราชการในหน่วยงานของรัฐ

14) ไม่เป็นพระภิกษุสงฆ์ หรือสามเณร นักพรต นักบวช คือ ตามนั้น ทั้งนี้ทั้งในวันสมัคร และในวันสอบ และเมื่อบรรจุแต่งตั้งแล้ว

นี้เป็น “ด่านแรก” เป็นด่านพื้นฐาน ด่านคุณสมบัติเบื้องต้น น่าจะเป็นด่านที่ง่ายที่สุดต่อการก้าวข้าม บุคคลทั่วไปไม่เคยสร้างวีรกรรมเอาไว้คง “ผ่านอย่างฉลุย” อย่างไรก็ตาม อาจมีบางคนได้ปกปิดข้อมูล หรือเก็บข้อเท็จจริงเอาไว้ รู้ว่าขาดคุณสมบัติแต่ก็ยังคงใช้สิทธิ์สมัครสอบ คิดว่าคงไม่มีใครรู้ หลังจากสอบได้ และได้บรรจุเป็นข้าราชการครูแล้ว วันดี คืนดี อาจมีการตรวจสอบ หากพบว่าขาดคุณสมับัติก็อาจถูกสั่งให้ออกจากราชการก็ได้ เพราะเงื่อนไขในประกาศสอบทุกที่จะกำหนดข้อความว่า “กรณีที่ตรวจสอบภายหลัง พบว่า ผู้สมัครรายใดเป็นผู้ขาดคุณสมบัติตามหลักเกณฑ์เกณฑ์ และวิธีการที่ ก.ค.ศ. กำหนด ให้ถือว่าบุคคลนั้นเป็นผู้ขาดคุณสมบัติที่จะได้รับการบรรจุและแต่งตั้งเข้ารับราชการเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครูผู้ช่วย ทั้งนี้ หากผู้ใดได้รับการบรรจุและแต่งตั้งแล้ว ต้องถูกเพิกถอนคำสั่งบรรจุและแต่งตั้ง และจะเรียกร้องสิทธิ์ใด ๆ มิได้” หรือข้อความในทำนองเดียวกันนี้เสมอ

 

2. ด่านสอง ; จะเป็นครูผู้ช่วยได้ผู้นั้นต้องเป็นผู้มีคุณสมบัติเฉพาะ

“มาตรฐานตำแหน่งครูผู้ช่วย” เป็นตัวกำหนดคุณสมบัติเฉพาะสำหรับที่จะดำรงตำแหน่งข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาตำแหน่งครูผู้ช่วย ซี่งเป็นไปตามตามมาตรา 42 ของพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. 2547 และแก้ไขเพิ่มเติม ประกอบกับพระราชบัญญัติสภาครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. 2546 กำหนดให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาเป็นวิชาชีพควบคุม ดังนั้นคุณสมบัติเฉพาะสำหรับผู้ดำรงตำแหน่งในมาตรฐานตำแหน่ง”ครูผู้ช่วย” จึงกำหนดว่า มีวุฒิไม่ต่ำกว่าปริญญาตรีทางการศึกษาหรือทางอื่นที่ ก.ค.ศ.กำหนดเป็นคุณสมบัติเฉพาะสำหรับตำแหน่งนี้ และมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู หรือใบอนุญาตปฏิบัติการสอน ขอขยายความ ดังนี้

2.1 คุณวุฒิ ที่ ก.ค.ศ.รับรอง

คณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) เป็นองค์กรกลางบริหารงานบุคคลสำหรับข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ดังเช่น ก.พ.สำหรับข้าราชการพลเรือนสามัญ) มีหน้าที่ให้การรับรองหรือไม่รับรอง คุณวุฒิหรือสาขาวิชาหรือแขนงวิชาที่สถาบันการศึกษาผลิตบัณฑิตออกมา และเป็นคุณวุฒิที่สามารถประกอบอาชีพครูได้ ซึ่งสำนักงาน ก.ค.ศ. จะประกาศรับรองเป็นระยะๆ หลังจากที่สถาบันการศึกษาเสนอขอให้ ก.ค.ศ.รับรอง

โดยที่ผ่านมา ก.ค.ศ.ได้รับรองคุณวุฒิหลักสูตรปริญญาตรี 4 ปี และ 5 ปี ปริญญาโท และปริญญาเอกของสถาบันการศึกษาต่าง ๆ คุณวุฒิที่ ก.ค.ศ.รับรองนี้ เพื่อประโยชน์ในการบรรจุและแต่งตั้งเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาตำแหน่งครูผู้ช่วย สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและตามอัธยาศัย สถาบันการพลศึกษา สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ และสำนักงานบริหารวิทยาลัยชุมชน

รายชื่อคุณวุฒิที่ ก.ค.ศ. รับรองจะประกอบไปด้วย ชื่อสถาบันการศึกษา ชื่อคุณวุฒิ สาขาวิชาหรือทางสาขาวิชาหรือวิชาเอกหรือโปรแกรมวิชาหรือแขนงหรือแขนงวิชา การรับรองและกำหนดอัตราเงินเดือน (อันดับและขั้น) เช่น มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ คุณวุฒิ ปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาการจัดการประมง เงินเดือน ครูผู้ช่วย อันดับ 21,150 บาท, มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ คุณวุฒิ วิทยาศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาการสอนฟิสิกส์ เงินเดือน ครูผู้ช่วย อันดับ 17,690 บาท หรือ มหาวิทยาลัยราชภัฎลำปาง ชื่อคุณวุฒิ ศิลปะศาสตร์บัณฑิต สาขารัฐประศาสนศาสตร์ เงินเดือน ครูผู้ช่วย อันดับ 15,050 บาท เป็นต้น โดยสถาบันการศึกษา หรือ ผู้ที่จบการศึกษา สามารถตรวจสอบคุณวุฒิ ที่ ก.ค.ศ. รับรองแล้ว ได้ที่เว็บไซต์ตรวจสอบคุณวุฒิและรายวิชาชีพที่ ก.ค.ศ. รับรอง http://203.146.44.131/qual55/login.php

2.2 หลักฐานการอนุญาตประกอบวิชาชีพที่คุรุสภารับรอง

เอกสารที่คุรุสภา (สภาครูและบุคลากรทางการศึกษา) ออกให้เพื่อแสดงว่าเป็นผู้มีสิทธิจะประกอบวิชาชีพครู ซึ่งเป็นวิชาชีพควบคุม ได้แก่

1) ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู เป็นหลักฐานที่คุรุสภาออกให้แก่ผู้ที่มีคุณสมบัติครบถ้วนตามมาตรฐานความรู้และมาตรฐานประสบการณ์วิชาชีพที่คุรุสภากำหนด กล่าวคือ มีอายุไม่ต่ำกว่า 20 ปี บริบูรณ์ มีวุฒิไม่ต่ำกว่าปริญญาตรีทางการศึกษา หรือเทียบเท่า หรือคุณวุฒิอื่นที่คุรุสภารับรอง และผ่านการปฏิบัติการสอนในสถานศึกษาตามหลักสูตรปริญญาทางการศึกษาเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 1 ปี และผ่านเกณฑ์การประเมินปฏิบัติการสอนตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการคุรุสภากำหนด ทั้งนี้ ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูมีอายุ 5 ปี และต้องต่ออายุใบอนุญาตฯ ทุกๆ 5 ปี โดยต้องพัฒนาตนเองให้มีคุณสมบัติตามที่คณะกรรมการคุรุสภากำหนด

2) ใบอนุญาตปฏิบัติการสอน เป็นหลักฐานที่คุรุสภาออกให้ผู้ที่มีเฉพาะมาตรฐานความรู้วิชาชีพครูตามที่คุรุสภากำหนด แต่ยังขาดประสบการณ์การปฏิบัติการสอนในสถานศึกษา สามารถใช้เป็นหลักฐานในการประกอบวิชาชีพครูได้ โดยอยู่ในความควบคุมของผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษา (ผู้บริหารสถานศึกษา) และเมื่อปฏิบัติการสอนเป็นเวลาต่อเนื่องไม่น้อยกว่า 1 ปี สามารถนำผลการประเมินการปฏิบัติการสอนจากสถานศึกษา ประกอบกับใบอนุญาตปฏิบัติการสอน มาขอรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูได้ ทั้งนี้ ใบอนุญาตปฏิบัติการสอนมีอายุ 2 ปี และสามารถขอรับได้อีกครั้งหนึ่ง

3) หนังสือรับรองสิทธิ เป็นหลักฐานที่สำนักงานเลขาธิการคุรุสภาออกให้แก่ผู้ยื่นคำขอรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูที่มีคุณสมบัติครบถ้วนในการจะได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู ตามข้อ 1) เพื่อเป็นหลักฐานแสดงสิทธิในการประกอบวิชาชีพครู ระหว่างรอการอนุมัติใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูจากคณะกรรมการมาตรฐานวิชาชีพ โดยหนังสือรับรองสิทธิ มีอายุ 60 วัน

นี้เป็น “ด่านสอง” เป็นด่านที่ยากขึ้นมาอีกระดับหนึ่ง เพราะต้องมีคุณสมบัติเฉพาะที่เป็นตัวการันตีว่ามีความรู้ ประสบการณ์ มีลายเส้นที่สามารถประกอบอาชีพครูได้ ดังนั้น ผู้ที่จะสมัครสอบบรรจุเป็นข้าราชการครูตำแหน่งครูผู้ช่วย จะต้องมีเอกสารหลักฐานเพื่อยืนยันคุณสมบัติเฉพาะทั้งสองรายการนี้ โดยตรวจสอบว่าปริญญาตนเองได้รับเป็นคุณวุฒิที่ ก.ค.ศ. รับรองให้เป็นครูได้หรือไม่ และมีหลักฐานการอนุญาตให้ประกอบวิชาชีพครูหรือไม่ ทั้งนี้เมื่อเห็นว่าต้นเป็นผู้มีคุณสมบัติสามารถสมัครสอบได้ ควรที่จะศึกษารายละเอียดในประกาศของหน่วยงานที่รับสมัครสอบให้ละเอียด รอบคอบว่า เอกสารหลักฐานที่ต้องนำไปในวันสมัคร ทั้งเอกสารแสดงวุฒิการศึกษา สาขาวิชาเอก รวมถึง เอกสารหลักฐานที่คุรุสภาออกให้เพื่อแสดงสิทธิในการประกอบวิชาชีพครู ให้เป็นไปตามที่หน่วยรับสมัครกำหนดให้เรียบร้อย หากเตรียมพร้อมทั้งสองส่วนนี้ครบถ้วนแล้ว “ด่านสองนี้ก็ผ่านฉลุย” เช่นกัน

 

3. ด่านสาม ; จะเป็นครูผู้ช่วยได้ผู้นั้นต้องเป็นผู้มีความรู้ความสามารถและมีความเหมาะสมกับตำแหน่ง

“มาตรฐานตำแหน่งครูผู้ช่วย” เป็นเงื่อนไขที่สำคัญที่กำหนดหลักสูตรสอบแข่งขันครูผู้ช่วย โดยกำหนดหน้าที่และความรับผิดชอบว่า ปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวกับการจัดการเรียนการสอน การส่งเสริมการเรียนรู้ พัฒนาผู้เรียน ปฏิบัติงานทางวิชาการของสถานศึกษา……และมีลักษณะงานที่ปฏิบัติดังนี้ ปฏิบัติงานเกี่ยวกับการจัดการเรียนการสอน และการส่งเสริมการเรียนรู้ของผู้เรียนด้วยวิธีการที่หลากหลายโดยยึดผู้เรียนเป็นสำคัญ จัดอบรมสั่งสอนและจัดกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนให้มีคุณลักษณะที่พึงประสงค์ ปฏิบัติงานวิชาการของสถานศึกษา ปฏิบัติงานเกี่ยวกับการจัดระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนและอื่นๆ ตามที่ได้รับมอบหมาย ซึ่งเงื่อนไขในมาตรฐานตำแหน่งในสองส่วนนี้เป็นเงื่อนไขนำมาจัดทำหลักสูตรสอบแข่งขันครูผู้ช่วยตามหลักเกณฑ์ปัจจุบัน ซึ่งเรียกว่า “หลักสูตรการสอบแข่งขันเพื่อบรรจุและแต่งตั้งบุคคลเข้ารับราชการเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครูผู้ช่วย” ประกอบไปด้วย 3 ภาค ดังนี้

3.1 ภาค ก. ความรอบรู้ ความสามารถทั่วไป และความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับคุณธรรม จริยธรรมและอุดมการณ์ของความเป็นครู มาตรฐานวิชาชีพทางการศึกษา และมาตรฐานการศึกษาขั้นพื้นฐาน ประกอบด้วยเนื้อหา ดังนี้

1) ความรอบรู้ ทดสอบโดยวิธีการสอบข้อเขียนแบบปรนัย ในเรื่อง

1.1) สังคม เศรษฐกิจ การเมือง และเหตุการณ์บ้านเมืองปัจจุบัน

1.2) นโยบายของรัฐบาลที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา

1.3) วัฒนธรรมไทย และขนบธรรมเนียมประเพณีไทย

1.4) กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติราชการ ได้แก่

– กฎหมายเกี่ยวกับการศึกษาแห่งชาติ

– กฎหมายเกี่ยวกับระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ

– กฎหมายเกี่ยวกับสภาครูและบุคลากรทางการศึกษา

– กฎหมายเกี่ยวกับระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา

– กฎหมายเกี่ยวกับการคุ้มครองเด็ก

– กฎหมายเกี่ยวกับการจัดการศึกษาสาหรับคนพิการ

- กฎหมาย ระเบียบปฏิบัติการอื่นๆที่เกี่ยวข้อง(หน่วยงานสอบกำหนดเพิ่มเติม)

1.5) ความรู้ความสามารถด้านภาษาอังกฤษที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงาน เนื้อหาเน้นความรู้ความสามารถด้านภาษาอังกฤษระดับพื้นฐาน ที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงานในตำแหน่งครูผู้ช่วย

2) ความสามารถทั่วไป ทดสอบโดยวิธีการสอบข้อเขียนแบบปรนัยในเรื่องเกี่ยวกับ

2.1) ความสามารถด้านตัวเลข ให้ทดสอบโดยการวัดความสามารถในการคิดเลข สรุปเหตุผลเกี่ยวกับตัวเลข และข้อมูลต่าง ๆ

2.2) ความสามารถด้านภาษาไทย ให้ทดสอบความเข้าใจภาษา การอ่านจับใจความ การสรุปความ การตีความ การขยายความ การเรียงข้อความ การสะกดคา การแต่งประโยค และคาศัพท์

2.3) ความสามารถด้านเหตุผล ให้ทดสอบโดยการวัดความสามารถในการคิดสรุปหาเหตุผลและอุปมาอุปมัย

3) ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับคุณธรรม จริยธรรม และอุดมการณ์ของความเป็นครู มาตรฐานวิชาชีพทางการศึกษา และมาตรฐานการศึกษาขั้นพื้นฐาน ทดสอบโดยการสอบข้อเขียนแบบปรนัย ในเรื่องเกี่ยวกับ

3.1) คุณธรรม จริยธรรม และอุดมการณ์ของความเป็นครู

3.2) มาตรฐานด้านความรู้และประสบการณ์วิชาชีพ

3.3) มาตรฐานด้านการปฏิบัติงาน

3.4) มาตรฐานด้านการปฏิบัติตน

3.5) มาตรฐานการศึกษาขั้นพื้นฐาน

3.2 ภาค ข. ความรู้ความสามารถที่ใช้เฉพาะตำแหน่ง

1) ความรู้ความสามารถเกี่ยวกับวิชาการศึกษา ทดสอบโดยวิธีการสอบข้อเขียนแบบปรนัย ในเรื่องเกี่ยวกับ

1.1) หลักสูตรและการพัฒนาหลักสูตร

1.2) หลักการสอนที่เน้นการสอนคิดวิเคราะห์และการจัดการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ

1.3) จิตวิทยาการศึกษาและการแนะแนว

1.4) การพัฒนาผู้เรียน

1.5) การบริหารจัดการชั้นเรียน

1.6) การวิจัยทางการศึกษา

1.7) สื่อ นวัตกรรมและเทคโนโลยีทางการศึกษา

1.8) การวัดและประเมินผลการศึกษา

1.9) ลักษณะงานที่ปฏิบัติตามมาตรฐานตาแหน่ง

2) ความรู้ความสามารถเกี่ยวกับกลุ่มวิชา หรือทาง หรือสาขาวิชาเอก ทดสอบโดยวิธีการสอบข้อเขียนและหรือภาคปฏิบัติเกี่ยวกับความรู้ในเนื้อหากลุ่มวิชา หรือทาง หรือสาขาวิชาเอก

3.3 ภาค ค ความเหมาะสมกับตำแหน่งและวิชาชีพ ประเมินโดยวิธีการสัมภาษณ์ สังเกต ตรวจสอบเอกสาร หรือวิธีอื่นที่เหมาะสม โดยประเมินจาก

1) ประวัติส่วนตัวและการศึกษา

2) บุคลิกลักษณะ ท่วงทีวาจา

3) วุฒิภาวะทางอารมณ์

4. การมีปฏิภาณไหวพริบ

5) ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ เจตคติและอุดมการณ์

ทั้งนี้ผู้ที่ถือว่าเป็นผู้สอบแข่งขันได้ ต้องได้คะแนนในแต่ละภาคไม่ต่ำกว่าร้อยละหกสิบ โดยเรียงลำดับที่ผู้ที่ได้คะแนนรวมจากมากไปหาน้อย กรณีที่มีผู้สอบแข่งขันได้ ได้คะแนนรวมเท่ากัน ให้ผู้ที่ได้คะแนน ภาค ข มากกว่า เป็นผู้อยู่ในลำดับที่ดีกว่า หากยังได้คะแนนภาค ข เท่ากัน ให้ผู้สอบได้คะแนนภาค ก มากกว่า เป็นผู้ที่อยู่ลำดับที่ดีกว่า หากยังได้คะแนนภาค ก เท่ากันอีก ให้ผู้ที่ได้รับเลขประจำตัวสอบก่อนเป็นผู้ที่อยู่ลำดับที่ดีกว่า แปลว่า เมื่อผ่านเกณฑ์และมีคะแนนเท่ากัน การประกาศขึ้นบัญชีจะยึดคะแนนรวม คะแนนภาค ข คะแนนภาค ก และลำดับสมัครสอบเป็นตัวตัดสิน

 

นี้เป็น “ด่านสาม” เป็นด่านสุดท้ายและเป็นด่านที่หินที่สุด เพราะต้องมีความรู้ความสามารถทั่วไป ความรู้ในศาสตร์การสอนซึ่งเป็นงานในหน้าที่ ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับคุณธรรมจริยธรรม รวมถึงมีความเหมาะสมกับตำแหน่งและวิชาชีพ ดังนั้น การจะเป็นผู้มีความรู้ความสามารถ มีความเหมาะสมดังกล่าว จะต้องเริ่มจากผู้สอบได้วิเคราะห์หาจุดด้อยและสิ่งที่ตนเองมีดีอยู่แล้ว (คลิกอ่านข้อเขียน 3 ตัวขัดขวางที่ทำให้ผู้เข้าสอบต้องพ่ายแพ้) หาทางแก้ไขจุดด้อยและเติมเต็มจุดพัฒนา (คลิกอ่านข้อเขียน วิธีก้าวข้ามข้อขัดขวางสู่เป้าหมายการสอบได้) จัดหาหนังสือ คู่มือเตรียมสอบ สื่อ ให้พร้อมและที่สำคัญต้องอ่านหนังสือและอ่านอย่างมีประสิทธิภาพ (คลิกอ่านข้อเขียน เทคนิคการเตรียมตัวให้พร้อมสำหรับการสอบแข่งขัน 1) โดยวางแผนการสอบทั้งก่อนสอบ ระหว่างสอยและหลังจากสอบเสร็จ (คลิกอ่านข้อเขียน เทคนิคการเตรียมตัวให้พร้อมสำหรับการสอบแข่งขัน 2) เชื่อว่าถ้าทำได้เช่นนี้ “ด่านสามก็ผ่านฉลุย” เช่นกัน

ดังนั้น หากเราเป็นผู้สอบที่มีคุณสมบัติครบถ้วน และมีการตรียมการมาอย่างสมบูรณ์แล้ว เราก็จะก้าวข้ามด่านทั้งสามสุดแสนจะง่ายดาย ถึงแม้จะมีคู่แข่งเป็นหมื่นเป็นแสนก็ตาม และเชื่อว่าในบัญชีผู้สอบแข่งขันได้ในตำแหน่ง “ครูผู้ช่วย” จะมีชื่อเราอย่างแน่นอน

 

สอบครู

 

กฎหมายอ้างอิง

ความเห็นของผู้ชม