ค้นหา

สมรรถนะสำคัญไฉนทำไมถึงต้องสอบ (2)

 จากตอนที่ 1 ผมชี้ประเด็นเอาไว้ว่า สมรรถนะเป็นคุณลักษณะเชิงพฤติกรรมที่เป็นผลมาจาก ความรู้ ทักษะ และคุณลักษณะอื่น ๆ ของบุคคลในการทำงานให้ประสบความสำเร็จ มีผลงานที่โดดเด่นกว่าคนอื่น ดังนั้น การวัดและประเมินผลว่า บุคคลใดมีสมรรถนะใด อยู่ในระดับใด จึงต้องวัดจากองค์ประกอบของสมรรถนะนั้นๆ นั้นหมายถึง ต้องมีตัวชี้วัดสมรรถนะที่ชัดเจน และวัดผลได้ จึงต้องอาศัยเครื่องมือในการวัดและประเมินผลที่หลากหลาย และสอดคล้องกับองค์ประกอบสมรรถนะและจุดประสงค์ที่ต้องการวัดผลนั้น อ่านข้อเขียนสมรรถนะสำคัญไฉน จะเป็นผู้บริหารฯ ทำไมต้องสอบ ตอน 1 ดูครับ (อ่านสมรรถนะสำคัญไฉนทำไมถึงต้องสอบ (1)

ก่อนจะลงลึกถึงตัวชี้วัดสมรรถนะ กรณีตัวอย่างเครื่องมือ หรือข้อคำถามเพื่อวัดสมรรถนะ การแปรผลการประเมินสมรรถนะ โดยเฉพาะการประเมินสมรรถนะเพื่อคัดเลือกบุคคลเข้าสู่ตำแหน่งผู้บริหารสถานศึกษา ผู้บริหารการศึกษา ซึ่งจะกล่าวถึงในข้อเขียนตอนที่ 3 นั้น เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ชัดเจนยิ่งขึ้น ข้อเขียนนี้จึงขอเสนอหลักของการวัดผลทางการศึกษา ที่จะนำมาใช้กับการวัดและประเมินสมรรถนะทางการบริหารก่อนนะครับ โดยมีประเด็นเชิงหลักการ ดังนี้

1. ความหมายการวัดผลทางการศึกษา

การวัดผลทางการศึกษา (ที่เน้นการทดสอบการศึกษา) หมายถึง กระบวนการวัดผลอย่างหนึ่งที่กระทำอย่างมีระบบเพื่อใช้ในการวินิจฉัย พยากรณ์ เปรียบเทียบ จัดอันดับ หรือตัดสินบุคคล โดยใช้ข้อสอบ หรือชุดคำถาม หรือเครื่องมืออย่างอื่นเพื่อไปกระตุ้นให้สมองแสดงพฤติกรรมอย่างใดอย่างหนึ่งออกมา แล้วประเมินหรือตัดสินโดยการเปรียบเทียบกับเกณฑ์ ดังเช่น O-NET GAT PAT ซึ่งเป็นการทดสอบทางการศึกษาขั้นพื้นฐานกับนักเรียนไทย หรือ PISA TIMSS ที่เป็นการทดสอบทางการศึกษากับเด็กนานาชาติ หากเป็นการประเมินสมรรถนะบุคคลโดยข้อสอบ หรือ ชุดคำถามในลักษณะดังกล่าวข้างต้น ก็ถือว่าเป็นการวัดผลทางการศึกษาเช่นเดียวกัน เช่น การประเมินสมรรถนะเพื่อคัดเลือกเข้าสู่ตำแหน่งผู้บริหารสถานศึกษา หรือผู้บริหารการศึกษา หรือ การประเมินสมรรถนะเพื่อขอมีหรือเลื่อนวิทยฐานะสำหรับบางตำแหน่งบางสายงานของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา เป็นต้น

 

2. จุดมุ่งหมายของการวัดผลทางการศึกษา

การวัดผลทางการศึกษา (ที่เน้นการทดสอบการศึกษา) มีจุดมุ่งหมายหลายประการ ดังนี้

1. วัดผลเพื่อพัฒนาสมรรถภาพของผู้เรียน หมายถึง การวัดผลเพื่อดูว่าผู้เรียนบกพร่องหรือไม่ เข้าใจในเรื่องใด อย่างไร แล้วครูพยายามอบรมสั่งสอนให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้และมีความเจริญงอกงามตามศักยภาพของผู้เรียน

2. วัดผลเพื่อวินิจฉัย หมายถึง การวัดผลเพื่อค้นหาจุดบกพร่องของผู้เรียนที่มีปัญหา ว่ายังไม่เกิดการเรียนรู้ตรงจุดใด เพื่อหาทางช่วยเหลือ

3. วัดผลเพื่อจัดอันดับหรือจัดตำแหน่ง หมายถึง การวัดผลเพื่อจัดอันดับความสามารถของผู้เรียนในกลุ่มเดียวกันว่าใครเก่งกว่า ใครควรได้อันที่ 1 2 หรือ 3

4. วัดผลเพื่อเปรียบเทียบ หรือเพื่อทราบพัฒนาการของผู้เรียน หมายถึง การวัดผลเพื่อเปรียบเทียบความรู้ความสามารถของผู้เรียน เช่น การทดสอบก่อนเรียนและหลังเรียน แล้วนำผลมาเปรียบเทียบกัน

5. วัดผลเพื่อพยากรณ์ หมายถึง การวัดเพื่อนำผลที่ได้ไปคาดคะเนหรือทำนายเหตุการณ์ในอนาคต

6. วัดผลเพื่อประเมินผล หมายถึง การวัดเพื่อนำผลที่ได้มาตัดสิน หรือ สรุปคุณภาพของการจัดการศึกษาว่ามีประสิทธิภาพสูงหรือต่ำ ควรปรับปรุงแก้ไขอย่างไร

จากนิยามและจุดมุ่งหมายของการวัดผลทางการศึกษาดังกล่าว หากนำมาใช้กับกระบวนการวัดและประเมินผลทางการศึกษาของเด็กนักเรียน คงคุ้นเคยและเข้าใจได้ไม่ยาก หากนำมาใช้กับการประเมินสมรรถนะทางการบริหาร หมายถึง กระบวนการทดสอบบุคคล โดยใช้แบบทดสอบ แบบประเมิน หรือ ชุดของคำถามกับบุคลกลุ่มเป้าหมาย จากนั้นนำข้อมูลที่ได้ไปสู่การประเมินผลโดยเปรียบเทียบกับเกณฑ์ที่กำหนด แล้วตัดสินจากผลการทดสอบนั้นแล้วแต่จุดมุ่งหมายที่ตั้งไว้ (การประเมินสมรรถนะทางการบริหาร เพื่อการพัฒนาสมรรถนะ การวินิจฉัย การจัดอันดับ เปรียบเทียบจัดตำแหน่ง) สำหรับการประเมินสมรรถนะที่องค์กรบริหารบุคคลส่วนใหญ่กำหนด เป็นการประเมินเพื่อประเมินผล จัดตำแหน่ง หรือ จัดอันดับ เช่น ประเมินสมรรถนะทางบริหารสำหรับการสรรหาบุคคลเพื่อดำรงตำแหน่งผู้บริหารสถานศึกษา ผู้บริหารการศึกษา หรือการประเมินสมรรถนะครูและบุคลากรทางการศึกษาเพื่อขอมีหรือเลื่อนวิทยฐานะตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดโดย ก.ค.ศ. เป็นต้น

3. พฤติกรรมบุคคลที่ใช้ในการวัดผลทางการศึกษา

เบนจามิน บลูม (Benjamin Bloom) และคณะ ได้จำแนกจุดประสงค์ทางการศึกษาออกเป็น 3 ด้าน ได้แก่ พฤติกรรมด้านพุทธิพิสัย จิตพิสัย และทักษะพิสัย สำหรับพฤติกรรมด้านพุทธิพิสัยนั้น แบ่งย่อยเป็น 6 ด้าน โดยแต่ละด้าน แบ่งเป็นพฤติกรรมย่อย ๆ ดังนี้

1. ความรู้ความจำ (Knowledge) หมายถึง ความสามารถของสมองที่เก็บสะสมเรื่องราวต่าง ๆ หรือประสบการณ์ต่างๆทั้งปวงที่ตนได้รับรู้มาเป็นความรู้ในเนื้อเรื่อง ความรู้รวบยอดในเนื้อเรื่อง ความรู้เกี่ยวกับหลักวิชา และส่วนขยายของวิชา ความรู้เกี่ยวกับทฤษฎีและโครงสร้าง เป็นต้น

2. ความเข้าใจ (Comprehension) หมายถึง ความสามารถในการนำความรู้ ความจำ ไปดัดแปลงปรับปรุงเพื่อให้สามารถจับใจความ หรือ เปรียบเทียบ ย่นย่อเรื่องราว ความคิด ข้อเท็จจริงต่าง ๆ ได้แก่ การแปลความ การตีความ การขยายความ เป็นต้น

3. การนำไปใช้ (Application) หมายถึง ความสามารถในการนำความรู้ ความเข้าใจในเรื่องราวใด ๆ ไปใช้ในสถานการณ์จริงในชีวิตประจำวันหรือในสถานการณ์ที่คล้ายคลึงกัน

4. การวิเคราะห์ (Analysis) หมายถึง การแยกแยะพิจารณาดูรายละเอียดของสิ่งต่าง ๆ หรือเรื่องราวต่าง ๆ ว่ามีชิ้นส่วนใดสำคัญที่สุด เป็นการใช้วิจารณญาณเพื่อไตร่ตรอง ได้แก่ การวิเคราะห์ ความสำคัญ การวิเคราะห์ความสัมพันธ์ การวิเคราะห์หลักการ เป็นต้น

5. การสังเคราะห์ (Synthesis) หมายถึง ความสามารถในการผสมผสานเรื่องราวหรือสิ่งต่าง ๆ ตั้งแต่ 2 ชนิดขึ้นไปเข้าด้วยกัน เพื่อสร้างเป็นเรื่องราวใหม่ ได้แก่ การสังเคราะห์ข้อความ การสังเคราะห์แผนงาน การสังเคราะห์ความสัมพันธ์ เป็นต้น

6. การประเมินค่า (Evaluation) หมายถึง การวินิจฉัย หรือตีราคา เรื่องราว ความคิด เหตุการณ์ต่าง ๆ โดยสรุปเป็นคุณค่าว่าดี เลว ได้แก่ การประเมินค่าโดยอาศัยข้อเท็จจริงภายใน การประเมินค่าโดยอาศัยเกณฑ์ภายนอก

ดังนั้น การวัดผลทางการศึกษาเพื่อสะท้อนคุณภาพการศึกษาจากตัวเด็กนักเรียน ต้องวัดรอบด้านทั้งความรู้ คุณลักษณะ และทักษะ ซึ่งแต่ละด้านก็ควรจะครอบคลุม เช่น การวัดด้านความรู้ ก็คงไม่ได้เน้นที่ความรู้ความจำ แต่ควรให้ครอบคลุมถึงการสังเคราะห์หรือการสร้างสรรค์ ในทำนองเดียวกันหากใช้แบบเครื่องมือวัดสมรรถนะทางการบริหารควรครอบคลุมทั้งพุทธิพิสัย จิตพิสัย หรือทักษะพิสัย หากเจาะจงใช้แบบทดสอบหรือข้อคำถามวัดด้านความรู้ ก็ต้องครอบคลุมทั้งความรู้ความเข้าใจ การวิเคราะห์สังเคราะห์นำไปใช้ รวมถึงการประเมินค่าหรือด้านความคิดสร้างสรรค์ด้วย

 

4.เครื่องมือที่ใช้วัดผลทางการศึกษา

เครื่องมือที่ใช้ในการวัดผลที่สอดคล้องกับประสงค์ทางการศึกษาของเบนจามิน บลูม (Benjamin Bloom) มีหลายชนิด ซึ่งแต่ละชนิดเหมาะสมกับการวัดพฤติกรรมทางการศึกษาที่แตกต่างกัน ดังนี้

1. การทดสอบ (Testing) หมายถึง กระบวนการในการนำชุดของสิ่งเร้าไปกระตุ้นให้ผู้เรียนแสดงพฤติกรรมที่ต้องการวัดออกมาให้ครูสังเกต และวัดได้ โดยทั่วไปครูใช้การทดสอบเพื่อวัดพฤติกรรมพุทธิพิสัยของผู้เรียน อันประกอบไปด้วยความรู้ ความจำ ความเข้าใจ การนำไปใช้ การวิเคราะห์ การสังเคราะห์ และการประเมินค่า โดยมีแบบทดสอบ (test) เป็นเครื่องมือสำคัญในการกระตุ้นให้นักเรียนแสดงพฤติกรรมดังกล่าวออกมา

2. การสังเกต (Observation) หมายถึง การเฝ้าดูพฤติกรรมที่ต้องการสังเกตอย่างมีจุดมุ่งหมาย โดยอาศัยประสาทสัมผัสแล้วจดบันทึกสิ่งที่สังเกตได้ไว้เป็นหลักฐานเพื่อใช้ เป็นข้อมูลในการลงสรุปสิ่งที่ทำการสังเกตได้ เครื่องมือที่ใช้จดบันทึกผลการสังเกต เช่น แบบสำรวจรายการ มาตรประมาณค่า หรือแบบบันทึก การสังเกตใช้ในการวัดพฤติกรรมจิตพิสัย ทักษะพิสัยของผู้เรียน

3. แบบสำรวจรายการ (Checklist) เป็นเครื่องมือวัดที่มีลักษณะเป็นชุดรายการที่ต้องการตรวจสอบ ซึ่งต้องการคำตอบเพียง 2 กรณี คือ ตอบรับกับตอบปฏิเสธ เช่น ผู้เรียนปฏิบัติได้ หรือปฏิบัติไม่ได้ ผู้เรียนมีพฤติกรรม หรือไม่มีพฤติกรรม นิยมใช้ประกอบการสังเกตว่าผู้เรียนมีพฤติกรรมจิตพิสัย หรือทักษะพิสัย ที่ครูต้องการตรวจสอบหรือไม่

4. มาตรประมาณค่า (Rating Scale) เป็นเครื่องมือวัดมีลักษณะเป็นชุดรายการที่ต้องการตรวจสอบ เหมือนกับแบบสำรวจรายการต่างกันตรงที่สามารถบอกระดับคุณภาพหรือระดับปริมาณว่ามีมากน้อยเพียงใด เช่น ผู้เรียนปฏิบัติได้ดี ปฏิบัติได้พอใช้ หรือปฏิบัติไม่ได้ นิยมใช้ประกอบการสังเกตพฤติกรรมจิตพิสัย หรือทักษะพิสัย ที่ต้องการทราบระดับคุณภาพ

5. การจดบันทึก (Records) เป็นเครื่องมือที่ใช้ในการจดบันทึกพฤติกรรมหรือเหตุการณ์จากที่สังเกตได้ โดยการเขียนข้อความเกี่ยวกับสิ่งที่สังเกตได้ลงในสมุดบันทึกอย่างเป็นระบบตามความเป็นจริง นิยมใช้เป็นเครื่องมือประกอบการสังเกตพฤติกรรมจิตพิสัย

6. การสัมภาษณ์ (Interview) เป็นการพูดคุยกันอย่างมีจุดมุ่งหมายระหว่างบุคคล 2 ฝ่าย คือ ผู้สัมภาษณ์กับผู้ถูกสัมภาษณ์ เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ต้องการ ครูใช้การสัมภาษณ์ผู้เรียนเพื่อเก็บข้อมูลเกี่ยวกับข้อเท็จจริง ความคิดเห็น เจตคติ และความรู้สึกของผู้เรียน หรืออาจสัมภาษณ์ผู้ปกครอง เพื่อเก็บข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับตัวผู้เรียน

7. แบบสอบถาม (Questionnaire) เป็นชุดของคำถามที่ใช้รวบรวมข้อมูลต่าง ๆ ที่ต้องการทราบ โดยผู้ตอบจะต้องเขียนตอบลงในแบบสอบถามด้วยตัวเอง ครูใช้แบบสอบถามเก็บข้อมูลลักษณะเดียวกับการสัมภาษณ์ เช่น ข้อเท็จจริง ความคิดเห็น เจตคติ และ ความรู้สึกของผู้เรียน แต่จะใช้ได้ดีในกรณีที่ผู้เรียนอ่านออกเขียนได้

8. สังคมมิติ (Sociometry) เป็นวิธีการวัดเพื่อศึกษาลักษณะความสัมพันธ์ทางสังคมของบุคคล ว่าผู้เรียนเป็นที่ยอมรับของสมาชิกในกลุ่มเพียงใด โดยให้ผู้เรียนตอบคำถามที่แสดงถึงความสัมพันธ์ของสมาชิกในกลุ่ม เช่น ใครเป็นเพื่อนรักของผู้เรียน นักเรียนชอบเล่นกับใคร แล้วครูนำคำตอบของผู้เรียนมาวิเคราะห์ เพื่อดูว่ามีผู้เรียนคนใดบ้างที่เพื่อนไม่เลือก ซึ่งมีแนวโน้มเกี่ยวกับปัญหาด้านการปรับตัว

จะเห็นได้ว่า เครื่องมือที่ใช้ในการวัดและประเมินผลทางการศึกษามีหลายชนิด จะเลือกใช้ชนิดใดขึ้นกับวัตถุประสงค์ที่ต้องการวัดและกลุ่มเป้าหมายของการวัด หากเป็นการวัดคุณภาพผู้เรียนขั้นพื้นฐานก็ควรเน้นไปที่ความรู้ ก็ใช้แบบทดสอบ หากวัดคุณลักษณะหรือทักษะก็ใช้แบบสังเกต แบบสำรวจรายการ แบบประมาณค่า แบบสัมภาษณ์ หรือใช้สังคมมิติ เป็นต้น หากเป็นการวัดสมรรถนะของบุคคลเพื่อการบริหารงานบุคคลทั้งสำหรับการแต่งตั้งและการพัฒนา นอกจากใช้แบบทดสอบแล้ว ยังสามารถใช้เครื่องมืออย่างอื่นวัดได้ทั้งแบบสังเกต แบบสำรวจรายการ แบบประมาณค่า และการสัมภาษณ์

 

กล่าวโดยสรุป ข้อเขียนนี้อยากชี้ให้เห็นว่า การประเมินสมรรถนะทางการบริหารเพื่อคัดบุคคลเข้าสู่ตำแหน่งฯ เป็นการวัดผลทางการศึกษาอย่างหนึ่ง การสรรหาบุคคลเข้าสู่ตำแหน่งผู้บริหารสถานศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ นิยมใช้แบบทดสอบ แบบสอบถามในลักษณะประมาณค่า เป็นเครื่องมือวัดเสียส่วนใหญ่ (หากการสรรหาบุคคลเข้าสู่ตำแหน่งเป็นผู้บริหารการศึกษา นอกจากใช้แบบทดสอบ แบบสอบถามในลักษณะประมาณค่าแล้ว ยังใช้แบบสำรวจรายการ แบบประเมินสภาพจริง หรือแบบประเมินผลการปฏิบัติ หรือประเมินด้วยเครื่องมือหลายๆอย่างจากที่ผู้รับประเมินเข้าไปอยู่ในสถานการณ์จำลอง ประกอบกัน) เมื่อได้ผลจากการวัดแล้ว ก็จะแปลงมาเป็นคะแนน (กรณีแบบประมาณค่า แบบตรวจผลงาน หากข้อสอบก็ตรงๆ ตอบได้ก็มีคะแนน) แล้วนำคะแนนที่ได้มาจัดอันดับ ถือว่าเป็นการสะท้อนขีดความสามารถของบุคคลได้ แต่โดยหลักแล้วสมรรถนะทางการบริหาร จะวัดได้จากผลงาน (ชิ้นงานที่เด่น) วัดจากพฤติกรรม (กระบวนการทำงาน) จึงจะถูกต้อง แต่การสรรหาบุคคลเข้าสู่ตำแหน่งผู้บริหารสถานศึกษา ซึ่งมีผู้เข้ารับการสรรหามีจำนวนมาก วิธีการประเมินที่รวดเร็ว ลดข้อโต้แย้ง ลดการสุ่มเสียงร้องทุกข์เป็นธรรมของกระบวนการประเมิน จึงนิยมใช้ข้อสอบ ดังนั้นผู้จะเตรียมตัวเข้ารับการสรรหาฯ อยากได้คะแนนสมรรถนะสูงๆ หากไม่มีผลงานที่โดดเด่น ยังไม่มีกระบวนยุทธ์ในการทำงานก็ที่เป็นเลิศ ก็อย่ากังวลเพราะไม่ได้วัดในประเด็นนี้

ดังนั้น ขอย้ำว่า “สมรรถนะทางการบริหาร” ในนิยามการสรรหาบุคคลเข้าสู่ตำแหน่งผู้บริหารสถานศึกษาของกระกรวงศึกษาธิการ คือ “สมรรถนะเชิงพุทธิพิสัย” สมรรถนะได้จากการทำข้อสอบ คือ ความรู้เข้าใจเกี่ยวกับสมรรถนะ การสังเคราะห์ วิเคราะห์ และประยุกต์ใช้สมรรถนะกับการปฏิบัติงาน วิธีการที่จะเก็บคะแนนสมรรถนะทางการบริหาร คือ การศึกษาทำความเข้าใจเกี่ยวกับการวัด เครื่องมือวัดสมรรถนะ อ่านหนังสือ อ่านหนังสือ ฝึกทำข้อสอบ ฝึกทำข้อสอบ และใช้จินตนาการว่าเรามีสมรรถนะสูงในห้องสอบ ครับ

 

สอบครู

 

ข้อเขียนที่เกี่ยวข้อง

 

กฎหมายระเบียบอ้างอิง

ความเห็นของผู้ชม