เคยไหม ที่เห็นผู้เข้าสอบบอกว่า อ่านมามาก ท่องทุกอย่าง ติวมาเป็นสิบ ๆ ครั้ง แต่เงิบ !! เมื่ออกจากห้องสอบ เป็นเพราะอะไรหรือ? “โชค วาสนา กรรมเก่า ขาดการบนบาน” คงไม่ใช่แน่ เชื่อว่าอ่านมามากจริง ทุ่มเทจริง แต่อย่าลืมว่า “การสอบเป็นศาสตร์และเป็นศิลป์” การมีความรู้ด้วยการอ่านการท่องอย่างเดียวจึงไม่เพียงพอ แต่ต้องมีลีลาและชั้นเชิงด้วย
ข้อเขียนก่อน ผมได้เสนอเทคนิคการอ่านหนังสือที่มีประสิทธิภาพ จัดว่าเป็น ”ศาสตร์” ข้อเขียนนี้จะเน้นการวางแผนก่อนเข้าห้องสอบ ระหว่างทำข้อสอบ และหลังสอบเสร็จ จะปฏิบัติตัวอย่างไร ถือว่าเป็น”ศิลป์” เป็น “ลีลา” ซึ่งหากเรียนรู้ฝึกฝน จะสร้างความมั่นใจให้กับผู้เข้าสอบยิ่งขึ้น เรามาดูลีลาที่ว่ากันดีไหม? คลิกอ่านข้อเขียน เทคนิคการเตรียมตัวให้พร้อมสำหรับการสอบแข่งขัน ตอนที่ 1 (อ่านเทคนิคการเตรียมตัวให้พร้อมสำหรับการสอบแข่งขัน (1))
1. วางแผนให้พร้อมก่อนการสอบทำอย่างไร?
การวางแผนการสอบในที่นี้ หมายถึง เมื่อได้ไปสมัครสอบฯ และมีสิทธิในการเข้าสอบแข่งขันแล้ว การวางแผนการสอบ เริ่มตั้งแต่ การเดินทาง การเข้าที่พัก การไปดูสนามสอบหรือห้องสอบ การทำข้อสอบและการเดินทางกลับ ดังนี้
1) เมื่อเลือกสถานที่หรือจังหวัดในการสอบสมัครแล้ว ควรวางแผนว่าจะเดินทางวันใด เดินทางไปกับใคร สถานที่พักที่ไหน ต้องเตรียมให้พร้อม ควรออกเดินทางไปถึงสถานที่หรือจังหวัดสอบฯ อย่างน้อยหนึ่งวัน เพื่อจะได้มีเวลาพักผ่อน ไปดูสนามสอบฯ ส่วนสถานที่พักหากไม่มีบ้านญาติพี่น้อง ควรจองไว้แต่เนิ่นๆ เพราะถ้าจังหวัดใดหากเป็นสนามสอบฯ โรงแรม หรือ ที่พักในจังหวัดนั้นมักจะมีผู้เข้าพักเต็มหมดแล้ว การพักที่วัดหรือที่อื่นๆ อันไม่เหมาะสมหรือเดินทางทั้งคืนไม่ได้พักผ่อน ย่อมเป็นสิ่งไม่ดีแน่
2) เตรียมเอกสาร วัสดุ อุปกรณ์ หรือของใช้ส่วนตัวให้เรียบร้อยก่อนออกเดินทาง สิ่งที่จะลืมไม่ได้ คือ บัตรประจำตัวประชาชน บัตรประจำตัวผู้เข้าสอบฯ ปากกา ดินสอ และยางลบ (ใช้สำหรับฝนหรือระบายข้อสอบ) ยารักษาโรคประจำตัว (ถ้ามี) และหนังสือ หรือ สรุปย่อเนื้อหาที่ได้จัดทำไว้แล้ว
3) ก่อนวันสอบจริงควรไปดูสนามสอบว่าอยู่ที่ใด จะเดินทางจากที่พักโดยเส้นทางใด ใช้เวลาเท่าไร ไปเส้นทางใดรถจะได้ไม่ติด ห้องสอบห้องใดและเลขที่นั่งสอบเท่าไร อยู่ตรงจุดไหน พักกลางวันจะไปรับประทานอาหารกลางวันที่ใด เป็นต้น
4) คืนก่อนสอบ ให้ทบทวนเนื้อหาตามหลักสูตรสอบฯ เล็กน้อย หลังจากนั้นให้รีบเข้านอน เพื่อให้ร่างกายได้พักผ่อนให้เพียงพอ ตื่นเช้าสมองจะได้แจ่มใส เพราะจะส่งผลต่อประสิทธิภาพในการวิเคราะห์และทำข้อสอบ
5) ในวันสอบ หลังจากภารกิจส่วนตัวเรียบร้อย ควรไปถึงสนามสอบก่อนเวลาสอบ อย่างน้อย 1 ชั่วโมง เพื่อจะได้มีความพร้อม ตรวจสอบความแน่นอนของห้องสอบอีกครั้งหนึ่ง ตรวจเช็ควัสดุ อุปกรณ์ในการสอบ บัตรประจำตัวผู้เข้าสอบ ยังมีครบหรือไม่ หากไม่มี ก็จะได้มีเวลาจัดหาได้ทัน ไม่ควรพะวงกับการอ่านหนังสือหรือวิตกกังวลกับการสอบเกินไป (ลักษณะอย่างนี้พบเห็นมาก)
6) ก่อนถึงเวลาสอบประมาณ 5-10 นาที ควรตรวจสอบความเรียบร้อยอีกครั้งหนึ่ง เข้าห้องน้ำทำภารกิจส่วนตัวให้เรียบร้อย ก่อนจะถึงเวลาเข้าห้องสอบและกรรมการคุมห้องสอบเรียกเข้าห้องสอบฯ พึงปฏิบัติตามกติกา หรือข้อห้าม เช่น ไม่นำอุปกรณ์อิเลคทรอนิกส์เข้าห้องสอบ บางสนามสอบอาจให้ถอดเสื้อคลุม ถอดรองเท้า สร้อยแหวน นาฬิกา เป็นต้น
7) เมื่ออยู่ในห้องสอบให้ปฏิบัติตามระเบียบของการสอบ หรือตามที่กรรมการคุมห้องสอบชี้แจง ให้ตั้งสติให้ดี มีสมาธิและวางแผนการทำข้อสอบ
2. วางแผนระหว่างทำข้อสอบควรทำอย่างไร?
การบริหารจัดการระหว่างทำข้อสอบเป็นศาสตร์และเป็นศิลป์ ที่จะทำให้การสอบเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ผู้เข้าสอบส่วนใหญ่ไม่คำนึงถึงจุดนี้ หากไม่ได้ฝึกมาก่อน เมื่อมาทำข้อสอบจริง ยิ่งเมื่อข้อสอบที่ทำนั้นยากหรือไม่ตรงกับที่ได้อ่านหรือเตรียมมา ยิ่งจะเกิดความตื่นเต้น โอกาสที่ทำให้ผิดพลาด ทำข้อสอบไม่ครบ (หมดเวลาก่อน) จะมีสูง การบริหารจัดการระหว่างทำข้อสอบ มีดังนี้
1) กรอกข้อมูล ในกระดาษคำตอบให้ถูกต้อง เรียบร้อย โดยเฉพาะการกรอกข้อมูล (ด้วยปากกาลูกลื่น) หรือวิธีการระบายตามช่องด้วยดินสอ (2B ขึ้นไป) หลังจากกรอกข้อมูลเสร็จให้ตรวจสอบอีกครั้งหนึ่งโดยเฉพาะเลขที่ประจำตัวสอบ รหัสวิชา เพราะมีหลายต่อหลายครั้งที่ผู้เข้าสอบทำข้อสอบได้ มีความมั่นใจแต่ไม่มีชื่อในบัญชีผู้สอบผ่าน เหตุเพราะลืมกรอกข้อมูลในกระดาษคำตอบ หรือกรอกผิดพลาดนั้นเอง
2) เปิดข้อสอบ เมื่อได้รับสัญญานหรือการอนุญาตจากผู้คุมห้องสอบ ตรวจสอบความเรียบร้อยของข้อสอบว่ามีกี่ข้อ มีกี่หน้า ครบทุกหน้าหรือทุกข้อหรือไม่ หากกรรมการชี้แจงเพิ่มเติมให้ฟังและแก้ไขตาม (หากผู้คุมสอบเงียบ อาจมีกติกาไม่ให้กรรมการชี้แจง)
3) การบริหารเวลาในการสอบโดยตรวจสอบเวลาที่จะใช้ในการทำข้อสอบ แล้วคำนวณระยะเวลาในการทำข้อสอบ (โดยปกติมาตรฐานข้อสอบจะใช้เวลาทำข้อละ 1 นาที ) ให้ชำเลืองดูนาฬิกา(ห้ามใส่ดิจิตอล) ขณะทำข้อสอบเป็นระยะ เช่น ประมาณ 10-15 ข้อต่อครั้ง ทั้งนี้เพื่อเป็นการควบคุมเวลาในการสอบ ทำให้ทำข้อสอบทันเวลาและครบทุกข้อ (จะพบบ่อยมากเมื่อหมดเวลาการทำข้อสอบแล้วแต่ยังเหลือข้อสอบอีก 10-20 ข้อ)
4) ทำข้อสอบทีละข้อ โดยอ่านคำถามและทำความเข้าใจอย่างละเอียด อ่านให้หมดคำถาม ( 2 เที่ยว) อย่ารีบเร่งตัดสินใจ แล้วค่อยวิเคราะห์ตัวเลือกแต่ละตัวเลือก เมื่อเลือกคำตอบแล้วให้ระบายหรือฝนในช่องของกระดาษคำตอบอย่างประณีต ในกรณีที่แก้ไข เพิ่มเติมให้ทำตามคำแนะนำที่บอกไว้ในกระดาษคำตอบ ข้อสอบข้อใดที่สงสัยให้ใช้ดินสอทำจุดสังเกต เช่น ดอกจัน ไว้ที่หน้าข้อสอบในกระดาษคำถาม โดยให้ความสำคัญ เช่น * ดอกจัน คือ สงสัย ** ดอกจัน คือ สงสัยมาก เป็นต้น แต่ถึงแม้จะเป็นข้อสงสัยก็ต้องระบายกระดาษคำตอบห้ามข้ามข้อ เพราะจะทำให้ไม่หลงลืมเมื่อทำไม่ทัน (เพราะหมดเวลา) หรืออาจจะทำให้สับสนระบายผิดข้อได้เพราะหากข้ามบางข้อ
5) ในกรณีที่ข้อสอบบางข้อยากมาก ไม่สามารถทำได้ อย่าใช้เวลากับข้อนั้นๆ นานเกินไปจนทำให้เสียเวลา (เกิน3นาที) ต้องให้ความสำคัญกับข้อสอบทุกข้อ เพราะข้อสอบแต่ละข้อคะแนนเท่ากันและข้อสอบข้อถัดไปหรือข้อท้ายๆ อาจเป็นข้อสอบที่ง่าย จะทำให้เสียโอกาสถ้าทำไม่ทันเวลา ในกรณีเช่นนี้ก็ให้เดาตัวเลือก (ตามหลักการในหัวข้อต่อไป) ไปก่อนแต่ทำเครื่องหมายดอกจันเป็นจุดสังเกตในกระดาษคำถามเอาไว้
6) กรณีข้อสอบที่ต้องใช้วิธีคำนวณหรือจำเป็นต้องขีดเขียนเพื่อให้เกิดความเข้าใจ ให้ขีดเขียนลงในกระดาษคำถามได้ (เว้นแต่มีข้อห้ามอย่างเด็ดขาดว่าห้ามขีดเขียนใดๆ ลงบนข้อสอบ)
7) เมื่อทำข้อสอบครบทุกข้อแล้ว หากยังมีเวลาเหลืออยู่ ให้กลับมาทบทวนข้อที่ยากหรือยากมาก โดยสังเกตจากข้อทำเครื่องหมายดอกจันเอาไว้ (ข้อที่ไม่สงสัยไม่ควรไปทบทวน การตัดสินใจครั้งแรกโอเคแล้ว ไปแก้ไขเท่ากับแก้ข้อถูกเป็นผิด ฮา)
8) ให้ทำข้อสอบจนหมดเวลา อย่าปล่อยเวลาให้เสียไปโดยนั่งรอ (ห้ามออกจนหมดเวลาสอบ) เพราะ เวลาทุกนาทีมีค่าสำหรับผู้เข้าสอบ
9) เมื่อใกล้จะหมดเวลาสอบ (จะมีประกาศเสียงตามสายหรือกรรมการผู้คุมสอบบอก เช่น เหลือเวลา 5 นาที) ให้ตรวจสอบกระดาษคำตอบอีกครั้งหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเด็นเกี่ยวกับการกรอกชื่อ สกุล รหัสหรือเลขประจำตัวผู้เข้าสอบ การลงลายมือชื่อผู้เข้าสอบ กรรมการคุมสอบ (ถ้ามี) รวมถึงตรวจเช็คว่าได้ตอบข้อสอบ (ฝนหรือระบาย) ทุกข้อหรือไม่ จะเช็คว่าถูกชัวร์กี่ข้อ เดากี่ข้อได้ จำข้อสอบไปเล่าต่อ อย่างนี้ทำได้กรณีมีเวลาเหลือเฟือ
10) หากใกล้หมดเวลาสอบแล้วยังทำไม่เสร็จ หรือข้อสอบจำนวนมาก ให้ใช้วิธีการเดา (รายละเอียดในหัวข้อถัดไป) และเผื่อเวลาไว้ 1-2 นาที เพื่อตรวจสอบตามที่กล่าวมาข้างต้น
2.1) เทคนิคการเลือกคำตอบที่ถูก
มีคนกล่าวติดตลกว่า คนที่สอบได้จะต้องเป็นผู้ที่ซื่อสัตย์ ต้องปฏิบัติตามคำสั่งอย่างเคร่งครัด เพราะคำสั่งหรือคำชี้แจงของข้อสอบชนิดเลือกตอบ มักจะบอกว่า ให้ทำเครื่องหมายกากบาท (X) หรือเลือกคำตอบที่ถูกต้องที่สุดเพียงคำตอบเดียว หากเราเลือกข้อที่เราคิดว่าถูกแต่ไม่ใช่คำตอบที่ถูกต้องที่สุด ก็จะไม่ได้คะแนน นั่นหมายถึงข้อนั้นผิด อาจจะทำให้สอบตกได้ ดังนั้นการเลือกคำตอบที่ถูกต้อง จึงไม่ใช่เฉพาะรู้หรือไม่รู้คำตอบเท่านั้น หากแต่เป็นศาสตร์และศิลป์ที่ต้องเรียนรู้ถึงหลักและวิธีการในการเลือกคำตอบที่ถูกต้องหมั่นฝึกฝน ฝึกทำข้อสอบอย่างสม่ำเสมอ สิ่งนี้เองถือเป็นเคล็ดลับอันสำคัญยิ่งที่จะทำให้เป็นผู้ประสบความสำเร็จในที่สุด
2.1.1) เทคนิคการเลือกคำตอบข้อสอบภาคความรู้ความสามารถทั่วไป
ข้อสอบภาคความรู้ความสามารถทั่วไป โดยทั่วไปจะเป็นข้อสอบที่ไม่ยากนัก แต่มีจำนวนข้อที่ค่อนข้างมาก แต่ละข้อล้วนต้องได้คิดและตัดสินใจเลือก บางข้อต้องใช้เวลาหลายนาทีในการอ่านและทำความเข้าใจโจทย์และคำถาม ทั้งนี้เพราะข้อสอบประเภทนี้มีจุดประสงค์ต้องการวัดความสามารถในการคิด วิเคราะห์และตัดสินใจอย่างรวดเร็ว โดยมีเวลาเป็นเครื่องกำกับและชี้วัดความสามารถของบุคคล ดังนั้นการทำข้อสอบประเภทนี้ให้ได้ดีและทันเวลา เทคนิคที่สำคัญและเป็นสิ่งจำเป็นคือ ต้องรู้หลักการ วิธีการคิด สูตรทางคณิตศาสตร์หรือพีชคณิต การฝึกทำข้อสอบประเภทนี้บ่อยๆ จะเป็นสิ่งที่ดีที่สุดทำให้รู้ จำ และเข้าใจหลักการ วิธีการคิด หรือสูตรการคิดได้อย่างรวดเร็วและจะทำเกิดความมั่นใจในที่สุด
2.1.2) เทคนิคการเลือกคำตอบข้อสอบภาคความรอบรู้ วิชาการศึกษา วิชากฎหมาย วิชาเอก หรือ เกี่ยวกับวิชาชีพ
ข้อสอบกลุ่มนี้มักจะมีลักษณะคำถามราวๆ 20 ประเภท สรุปพอสังเขป ได้แก่
1) คำถามเกี่ยวกับพระบรมราโชวาท พระราชดำรัส แนวพระราชดำริ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิต์พระบรมราชินี และพระบรมวงศานุวงศ์
2) คำถามเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวหรือแนวโน้มใหม่ทางด้านการศึกษา
3) คำถามเกี่ยวกับความรอบรู้ (ความเคลื่อนไหวทางการเมือง สังคม เศรษฐกิจและการปกครองและการต่างประเทศ)
4) คำถามที่เกี่ยวกับ มติ หรือ นโยบายของรัฐบาลที่กำหนดให้มีในหลักสูตรการสอบแข่งขันหรือการคัดเลือก
5) คำถามเกี่ยวกับนโยบายหรือโครงการของกระทรวงศึกษาธิการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
6) คำถามเกี่ยวกับ หลักการ แนวคิด ทฤษฎีหรือสาระสำคัญ หลักการ ของเรื่องนั้นๆ
7) คำถามเกี่ยวกับ วัน เวลา จำนวน สถานที่หรือ ตัวเลข
8) คำถามเกี่ยวกับ บุคคล หน่วยงาน องค์กรที่ตนเองปฏิบัติงาน หรือหน่วยงานต้นสังกัด
9) คำถามที่มีคำว่า ไม่ ไม่ใช่ ผิด ไม่ถูกต้อง แตกต่างไปจากพวก หรือยกเว้น
10) คำถามที่เป็นมีศัพท์ภาษาอังกฤษ หรือสำนวน ให้แปลความ หรืออธิบาย
11) คำถามที่มีประเด็นคำถามหลายประเด็นในข้อเดียวกัน
12) คำถามที่ถามถึงขั้นตอนการดำเนินงานหรือกิจกรรมต่างๆ
13) คำถามที่ถามถึงประเด็นที่สำคัญที่สุด
14) คำถามที่มีตัวเลือกถูกทุกข้อ หรือถูกหลายข้อ
15) คำถามวิเคราะห์ (ความเข้าใจและการนำไปใช้ )
16) คำถามวิเคราะห์(หลักการ หรือนิยามศัพท์)
17) คำถามวิเคราะห์(ความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กัน )
18. คำถามวิเคราะห์ (สาระตามข้อบัญญัติของระเบียบหรือกฎหมาย)
19. ข้อสอบวิเคราะห์ (เป้าหมาย ผลลัพท์ หรือผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษา)
20. คำถามวิเคราะห์ (ถ้อยคำ วลีที่เป็นตัวชี้วัดของประเด็นคำถาม)
การจะเลือกคำตอบของข้อสอบแต่ละลักษณะได้ถูกต้อง จะต้องมีความรู้ความเข้าใจในเรื่องนั้นๆโดยเฉพาะลักษณะข้อสอบตามข้อ 1,2,3,4 และ 5 คำถามคำตอบจะถามตรงๆ คำตอบไม่มีตัวลวงที่ซับซ้อน วัดเพียงแต่รู้หรือไม่รู้เท่านั้น ต้องศึกษาค้นคว้าให้รู้อย่างกว้างๆ จำและทำความเข้าใจ เฉพาะหัวข้อหรือประเด็นสำคัญ เช่น โครงการในพระราชดำริโครงการนั้นๆ ทำที่ไหน มีประโยชน์ด้านใด นโยบายของรัฐบาลด้านต่างๆใช้แก้ปัญหาด้านใด นโยบายและโครงการด้านการศึกษามีอะไรบ้าง สาระสำคัญของโครงการฯโดยสังเขปเป็นอย่างไร นโยบายหรือโครงการของกระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน มีอะไรบ้าง แต่ละโครงการมีจุดประสงค์และเป้าหมายอย่างไร ความเคลื่อนไหวทางการศึกษา สังคม เศรษฐกิจ การเมืองการปกครอง และการต่างประเทศ มักนิยมออกในเรื่องใหม่ๆ เรื่องสำคัญๆ ที่เกิดขึ้นในระยะนั้นทั้งในประเทศและต่างประเทศ ดังนั้นต้องเป็นผู้ที่ติดตามข่าว ความเคลื่อนไหวตามสื่อต่างๆ เช่น โทรทัศน์ วิทยุ หนังสือพิมพ์ หรืออินเตอร์เน็ต อย่างสม่ำเสมอ ไม่ควรไปเสียเวลาท่องจำในหนังสือ
ความรู้รอบตัวคำถามลักษณะตามข้อ 6,7,8,9,10,11,12,13 และ 14 ต้องจำและทำความเข้าใจหลักการและแนวคิดกระบวนการหรือขั้นตอนที่สำคัญของเรื่องนั้นๆ ลักษณะคำถามถึง เวลา วันเดือนปี ตามข้อ 7 ส่วนมากจะเป็นกฎหมายที่ผลบังคับใหม่ หรือกฎหมายที่สำคัญ ส่วนชื่อหน่วยงาน บุคคลสำคัญ หรือนิยาม คำศัพท์จำเป็นและสำคัญจริงๆ ก็มักจะนิยมออก จึงควรรู้ไว้บ้าง ส่วนคำถามลักษณะที่เหลือตามข้อ 15- 20 มักนิยมออกเช่นกัน โดยเฉพาะการสอบแข่งขันฯในระยะหลังๆ จะเน้นข้อสอบวิเคราะห์และการนำไปใช้มากขึ้น เพราะสามารถแยกแยะความสามารถของบุคคลได้ ดังนั้นนอกจากจะรู้ เข้าใจ หลักการ แนวคิดแล้ว จำเป็นต้องคิดสังเคราะห์และประยุกต์หรือนำไปใช้ได้การหมั่นฝึกทำข้อทดสอบบ่อยๆ จึงเป็นสิ่งที่ดีที่สุด
2.2) มีเทคนิคการเดาคำตอบอย่างไรที่มีโอกาสเป็นคะแนน?
การเดาคำตอบเป็นสิ่งที่ไม่พึงประสงค์สำหรับผู้เข้าสอบเลย แต่เมื่อถึงคราวจำเป็นนักสอบมืออาชีพคงไม่ใช้วิธีการนับตัวเลข นับนิ้วมือ หมุนปากกา หรือหลับตาจิ้มดินสอลงบนข้อใดก็ตัดสินใจเลือกคำตอบนั้นแน่ แต่ควรจะมีเทคนิค มีชั้นเชิงบ้าง โดยใช้เทคนิคการเดาคำตอบ ดังนี้
1) ให้ตัดคำตอบที่ไม่เกี่ยวข้องออกให้มากที่สุด แล้วเลือกตัวเลือก
2) ตัวเลือกที่ถูกทุกข้อ ไม่มีข้อถูก หรือบางข้อถูก (ข้อ ก และ ข ถูก) มักจะเป็นคำตอบที่ถูกต้อง
3) ตัวเลือกที่ข้อความยาว ๆ มักจะเป็นตัวเลือกที่ถูก
4) เลือกตัวเลือกโดยใช้ลำดับเนื้อหาตามหลักสูตรสอบฯ ว่าควรจะเป็นเรื่องใด
5) เลือกตัวเลือกโดยสังเกตจากข้อที่ผ่านมา
6) กรณีหมดเวลาแต่ข้อสอบยังเหลือจำนวนมากให้เดาตัวเลือกข้อใดข้อหนึ่งเพียงข้อใด เช่นเดาตัวเลือก ง ในทุกข้อ
ย้ำ!! มีคนกล่าวติดตลกว่า คนที่สอบได้จะต้องเป็นผู้ที่ซื่อสัตย์ ต้องปฏิบัติตามคำสั่งอย่างเคร่งครัด เพราะคำสั่งหรือคำชี้แจงของข้อสอบชนิดเลือกตอบ มักจะบอกว่า ให้ทำเครื่องหมายกากบาท (X) หรือเลือกคำตอบที่ถูกต้องที่สุดเพียงคำตอบเดียว หากเราเลือกข้อที่เราคิดว่าถูกแต่ไม่ใช่คำตอบที่ถูกต้องที่สุด ก็จะไม่ได้คะแนน นั่นหมายถึงข้อนั้นผิด อาจจะทำให้สอบตกได้ ดังนั้นการเลือกคำตอบที่ถูกต้อง จึงไม่ใช่เฉพาะรู้หรือไม่รู้คำตอบเท่านั้น หากแต่เป็นศาสตร์และศิลป์ที่ต้องเรียนรู้ถึงหลักและวิธีการในการเลือกคำตอบที่ถูก ต้องหมั่นฝึกฝน ฝึกทำข้อสอบอย่างสม่ำเสมอ สิ่งนี้เองถือเป็นเคล็ดลับอันสำคัญยิ่งที่จะทำให้เป็นผู้ประสบความสำเร็จในที่สุด
3. การวางแผนหลังการสอบทำอย่างไร?
เมื่อสอบเสร็จในแต่ละวิชา โดยส่วนมากจะกำหนดเป็นภาคเช้าและภาคบ่าย ภาคละวิชา หรือไม่เกินสองวิชา เพื่อให้ผู้เข้าสอบได้มีเวลาเตรียมตัวหลังจากสอบเสร็จภาคเช้าหรือในแต่ละวิชา เมื่อออกจากห้องสอบผู้เข้าสอบก็จะจับกลุ่มพูดคุยกันถึงเรื่องข้อสอบและการทำข้อสอบเป็นธรรมดา โดยสาระอาจสอบถามถึงข้อสอบข้อนั้นข้อนี้ตอบอย่างไร คนนั้นอาจจะตอบข้อนั้น คนนี้ตอบข้อนี้ ข้อนั้นตอบถูก สอบได้แน่นอน คนนี้ตอบผิดคงตก หรือทำข้อสอบไม่ได้แย่แน่ๆ สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นทุกครั้งที่มีการสอบ แต่อย่าไปใส่ใจหรือวิตกกังวลมากนัก เพราะได้สอบไปแล้วควรทำใจให้สบาย ถ้าหากเรามั่นใจและเตรียมตัวมาอย่างดี เราต้องสอบได้แน่ๆ คนที่วิพากษ์วิจารณ์ว่าเราตอบผิด หรือตนเองตอบถูกหมด อาจจะไม่มีชื่อในบัญชีรายชื่อผู้สอบผ่านก็ได้ ทั้งนี้เพราะคนทำข้อสอบไม่ใช่คนออกข้อสอบ ข้อสอบวิเคราะห์ ผู้ตอบอาจมองคนละมุมกับผู้ออกก็ได้ หรือผู้ตอบยังมีความรู้ไม่พอสำหรับข้อสอบนั้นๆ จึงคิดว่าตนเองทำถูก ทั้งที่จริงไม่ใช่ และมักพบเห็นอยู่เสมอว่า คนที่บอกว่าตนเองสอบได้แน่แต่สุดท้ายสอบตก ไม่มีชื่อ
สิ่งที่ดีที่สุดเมื่อสอบเสร็จ หากเป็นเวลาพักเที่ยงควรรีบไปรับประทานอาหารกลางวันให้อิ่มพอดี อย่าอิ่มมาก และพักผ่อน ให้ผ่อนคลาย เพื่อเตรียมสอบในภาคบ่ายต่อไป หากสอบเสร็จภาคบ่ายและมีการสอบในวันต่อไปควรกลับไปพักผ่อน เพื่อเตรียมตัวสอบในวันถัดไป
ครับ ข้อเขียน “เทคนิคการเตรียมตัวสอบให้พร้อมสำหรับการสอบแข่งขัน” ที่ผมนำเสนอทั้งสองตอน น่าจะเป็นประโยชน์สำหรับนักสอบ โดยเฉพาะผู้ที่เพิ่งจบการศึกษาหมาด ๆ เข้าสู่สนามสอบแข่งขันรับราชการ (ครูผู้ช่วย) ครั้งแรก ถือว่าเป็นนักสอบมือใหม่ หากนำเทคนิคต่างๆ ทั้งการเตรียมตัวก่อนสอบ ระหว่างการสอบ หลังการสอบไปใช้ ในไม่กี่วันข้างหน้า จะเป็น “ ครูผู้ช่วยป้ายแดง “ อย่างแน่นอน
สอบครู
ข้อเขียนที่เกี่ยวข้อง