9 สิงหาคม 2565 / นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการระดับชาติ เพื่อระดมความคิดเห็นเกี่ยวกับการพลิกโฉมการศึกษา (National Consultation for Transforming Education Summit) ณ โรงแรมปรินซ์พาเลซ กรุงเทพฯ
รมว.ศธ. กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้ เป็นการหารือร่วมกันของทุกภาคส่วนในสังคม เพื่อแลกเปลี่ยนและกำหนดวิสัยทัศน์อนาคตด้านการศึกษา ในการขับเคลื่อนให้เกิดการปฏิบัติที่สอดคล้องกับการดำเนินงานที่จะบรรลุเป้าหมายวาระการพัฒนาสหประชาชาติ ค.ศ. 2030 ถือเป็นการเตรียมความพร้อมในการพลิกโฉมการศึกษาของประเทศไทย ที่จะนำไปสู่ข้อเสนอแนะและแสดงถึงแนวทางการศึกษาของไทย ต่อที่ประชุม Transforming Education Summit (TES) ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 19 กันยายน 2565 ณ สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา
การพลิกโฉมเพื่อเปลี่ยนแปลงระบบการศึกษาของไทย เป็นประเด็นที่ท้าทายมาก โดยเฉพาะการฟื้นฟูการศึกษาภายหลังโรคโควิด 19 โดย ศธ. มีแนวทางในการรับมือตามบริบทและความเหมาะสมอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ การจัดการศึกษาแบบ On-Air, Online, On-Demand, On-Hand และ On-Site ซึ่งการเรียนการสอนแบบ On-Site สำคัญมากที่สุด รวมถึงมุ่งเน้นมาตรการนำนักเรียนกลับคืนสู่รั้วโรงเรียน การสร้างความปลอดภัยในโรงเรียน การจัดสรรวัคซีนให้แก่ครู และนักเรียนในสถานศึกษาอย่างทั่วถึง โครงการอาชีวะอยู่ประจำ เรียนฟรี มีอาชีพ บูรณาการ ICT ในการเรียนการสอน จัดหลักสูตรฝึกอบรมสมรรถนะครูด้านทักษะ ICT จัดทำโปรแกรม “CAPER” เพื่อสำรวจผู้พิการที่ไม่สามารถเข้าถึงการศึกษาแล้วจัดการศึกษาให้เหมาะสมเป็นรายบุคคล
ทั้งนี้ การศึกษาในอนาคต ควรคำนึงถึงการตอบสนองต่อการพัฒนาในทุกมิติ รวมทั้งทักษะในการดำรงชีพ ทักษะการคิดเชิงวิพากษ์ ความคิดสร้างสรรค์ และทักษะของการเป็นผู้ประกอบการ ตลอดจนการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการจัดการเรียนการสอนให้เข้มข้นมากยิ่งขึ้น สำหรับในประเด็นการสร้างโอกาสทางการศึกษา นอกจากป้องกันเด็กตกหล่นจากระบบการศึกษาแล้ว ยังควรให้ความสำคัญต่อพัฒนาคนทุกช่วงวัย และการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong Learning) รวมถึงการเพิ่มโอกาสทางการศึกษาโดยการให้ทุนการศึกษาจนถึงระดับอุดมศึกษา
ส่วนด้านการจัดสรรงบประมาณนั้น ครม.มีมติอนุมัติปรับเพิ่มเงินอุดหนุนรายหัวนักเรียนภาคบังคับ สายสามัญ และสายอาชีพ ทั้งในและนอกระบบการศึกษา ในลักษณะขั้นบันได ใช้ระยะเวลา 4 ปี เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลง และเป็นการลดภาระค่าใช้จ่ายของผู้ปกครอง เป็นแนวทางหนึ่งในการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา และเพิ่มโอกาสการเรียนรู้ของนักเรียนอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม
“จากการที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมระดับรัฐมนตรีด้านการศึกษาแห่งภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ว่าด้วยเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เป้าหมายที่ 4 (การศึกษา 2030) ครั้งที่ 2 เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ได้มีการรับรองถ้อยแถลงกรุงเทพฯ 2565 สู่การฟื้นฟูการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพเพื่อปวงชนและการเปลี่ยนแปลงการศึกษาในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก หรือ Bangkok Statement 2022 Towards an effective learning recovery for all and transforming education in Asia-Pacific จึงเป็นการเน้นย้ำว่า ประเทศไทยและภาคส่วนต่าง ๆ มีความมุ่งมั่นที่จะขับเคลื่อนด้านการศึกษา ฟื้นฟูและพัฒนาการศึกษาทุกมิติตามเจตนารมณ์ของภูมิภาคและเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เป้าหมายที่ 4 อย่างเข้มแข็ง และในการประชุม Transforming Education Summit เดือนกันยายนนี้ ประเทศไทยจะได้แสดงวิสัยทัศน์ นำเสนอถ้อยแถลง รวมถึงรายงานผลการหารือระดับชาติที่ครอบคลุมแนวทางปฏิบัติการทั้ง 5 หัวข้อ ได้แก่ การศึกษาที่ครอบคลุม การเรียนรู้ ทักษะชีวิตและงาน การเปลี่ยนแปลงด้านดิจิทัล การพัฒนาครู และงบประมาณด้านการศึกษา เพื่อไปสู่การพลิกโฉมการศึกษาที่แท้จริง” รมว.ศธ. กล่าว
การประชุมประกอบด้วยการอภิปรายหัวข้อ “แนวทางการพลิกโฉมการศึกษาของไทย” ได้แบ่งกลุ่มอภิปรายเป็น 5 กลุ่มย่อย ได้แก่ การศึกษาที่ครอบคลุม เท่าเทียม ปลอดภัย และมีสุขภาพดี, การเรียนรู้และทักษะชีวิต การทำงาน และการพัฒนาที่ยั่งยืน, ครูและการพัฒนาวิชาชีพครู, การเรียนรู้ดิจิทัลและการปรับเปลี่ยน และงบประมาณด้านการศึกษา จากนั้นจะทำการประชุมสรุปผลและหารือแนวทางการจัดทำรายงานและความมุ่งมั่นระดับชาติเพื่อเสนอต่อสหประชาชาติ
ในการประชุมครั้งนี้ มีผู้บริหารเข้าร่วม อาทิ Ms Kyungsun Kim ผู้อำนวยการองค์การยูนิเซฟประเทศไทย, Mr Shigeru Aoyagi ผู้อำนวยการองค์การยูเนสโก สำนักงานกรุงเทพฯ, รองศาสตราจารย์ ดร. จีระเดช อู่สวัสดิ์ ที่ปรึกษาคณะกรรมการพัฒนาการศึกษา หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย, ดร. สัมพันธ์ ศิลปะนาฏ รองประธานสายงาน FTI Academy สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย, ดร. ไกรยศ ภัทราวาท ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา คณะผู้บริหารกระทรวงศึกษาธิการ และตัวแทนภาครัฐ-เอกชน
ที่มา ; ศธ 360 องศา
ข่าวเดียวกัน
“ตรีนุช”เปิดเวทีกำหนดอนาคตพลิกโฉมการศึกษาไทย
เมื่อวันที่ 9 ส.ค. ที่โรงแรมปรินซ์พาเลซ กทม. ได้มีการประชุมเชิงปฏิบัติการระดับชาติเพื่อระดมความคิดเห็นเกี่ยวกับการพลิกโฉมการศึกษา (National Consultation for Transforming Education Summit) ผ่านระบบการประชุมทางไกล โดยมี นางคยองซอน คิม ผู้อำนวยการองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย นายชิเกรุ อาโอยางิ ผู้อำนวยการ องค์การยูเนสโก สำนักงานกรุงเทพฯ รศ.ดร.จีระเดช อู่สวัสดิ์ ที่ปรึกษาคณะกรรมการพัฒนาการศึกษาหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ดร.สัมพันธ์ ศิลปะนาฏ รองประธานสายงาน FTI Academy สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และ ดร.ไกรยศ ภัทราวาท ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา และคณะผู้บริหารกระทรวงศึกษาธิการ เข้าร่วม
โดย น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศึกษาธิการ กล่าวเปิดการประชุมตอนหนึ่งว่า วันนี้เป็นการหารือร่วมกันของทุกภาคส่วนเพื่อแลกเปลี่ยนและกำหนดวิสัยทัศน์อนาคตด้านการศึกษา ขับเคลื่อนให้เกิดการปฏิบัติที่ทำให้บรรลุเป้าหมายวาระการพัฒนาสหประชาชาติ ค.ศ. 2030 หรือ พ.ศ. 2573 และเป็นการเตรียมความพร้อมในการพลิกโฉมการศึกษาของประเทศไทย ที่จะนำไปสู่ข้อเสนอแนะ และแสดงแนวทางการศึกษาของไทยต่อที่ประชุม Transforming Education Summit (TES) ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 19 กันยายน 2565 ณ สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา
รมว.ศธ.กล่าวต่อไปว่า รัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ได้กำหนดนโยบาย และยุทธศาสตร์ด้านการศึกษาไว้อย่างชัดเจน ว่า การขับเคลื่อนด้านการศึกษาๆ ต้องมุ่งเน้นถึงการสร้างโอกาสในการเข้าถึงการศึกษาอย่างเสมอภาค โดยไม่มีใครตกหล่นจากระบบการศึกษา เด็กไทยทุกคนต้องได้รับการศึกษาภาคบังคับ และเป็นการศึกษาอย่างมีคุณภาพ ได้รับประสบการณ์การเรียนรู้ผ่านการปฏิบัติจริง รวมถึงมีการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีมาสนับสนุนการเรียนการสอนได้อย่างเหมาะสม
“การพลิกโฉมเพื่อเปลี่ยนแปลงระบบการศึกษาของไทย เป็นประเด็นที่ท้าทายมาก โดยเฉพาะการฟื้นฟูการศึกษาหลังการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 ซึ่งระบบการศึกษาจำเป็นต้องมีการปรับตัว ให้เข้ากับสถานการณ์และโลกในยุคหลังโควิด-19 ซึ่งรัฐบาลและ ศธ. ได้รับมือโดยให้เด็กสามารถเรียนรู้ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ตามบริบทและความเหมาะสมอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ การจัดการศึกษาแบบ On-Air, Online, On-Demand, On-Hand และ On-Site ซึ่งการเรียนการสอนแบบ On-Site สำคัญมากที่สุด โดยมีเป้าหมายว่าท่ามกลางสถานการณ์ที่ไม่ปกติ ทำอย่างไรเราจะมีบริบทการเรียนการสอนที่เข้าถึงนักเรียน เพื่อให้เข้าถึงกระบวนการเรียนรู้ได้มากที่สุด อีกทั้งมีการบูรณาการ ICT ในการเรียนการสอนเพื่อให้ผู้เรียนสามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัล ผ่านแพลตฟอร์มการเรียนรู้ และการเข้าถึงการเรียนรู้ที่มีคุณภาพ อาทิ การเรียนรู้ทางไกลผ่านดาวเทียม หรือ DLTV การเรียนรู้แบบผสมผสานสำหรับผู้ที่อยู่ห่างไกลและยากต่อการเข้าถึงอินเทอร์เน็ต มุ่งเน้นให้เด็กเข้าสู่ระบบการศึกษามากที่สุด ได้กลับสู่โรงเรียนอย่างรวดเร็วที่สุด เรียนด้วยความปลอดภัยและไม่เกิดภาวะถดถอยทางการเรียนรู้” รมว.ศธ.กล่าว
นางสาวตรีนุช กล่าวด้วยว่า การศึกษาในอนาคตควรคำนึงถึงการตอบสนองต่อการพัฒนาในทุกมิติ ทั้งการยกระดับคุณภาพการศึกษา การพัฒนากระบวนการเรียนการสอน เพื่อให้ผู้เรียนมีทักษะใหม่ๆ ที่เหมาะสมกับการประกอบอาชีพในอนาคต โดยเฉพาะเด็กอาชีวะ เรารู้ว่ากลไกที่ดีที่สุดคือการที่เด็กได้ทำงานจริงกับสถานประกอบการ หรือ ภาคเอกชน เพื่อจัดการเรียนการสอนให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีและสาขาอาชีพที่รวดเร็ว ตลอดจนมีทักษะในการดำรงชีพ ทักษะการคิดเชิงวิพากษ์ ความคิดสร้างสรรค์ และทักษะของการเป็นผู้ประกอบการ สำหรับในประเด็นการสร้างโอกาสทางการศึกษา นอกจากป้องกันเด็กตกหล่นจากระบบการศึกษาแล้ว ควรให้ความสำคัญต่อพัฒนาคนทุกช่วงวัย และการเรียนรู้ตลอดชีวิต
ทั้งนี้ จากการที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม ระดับรัฐมนตรีด้านการศึกษาแห่งภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกว่าด้วยเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เป้าหมายที่ 4 (การศึกษา 2030) ครั้งที่ 2 เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ได้มีการรับรองถ้อยแถลงกรุงเทพฯ 2565 สู่การฟื้นฟูการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพเพื่อปวงชนและการเปลี่ยนแปลงการศึกษาในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก หรือ Bangkok Statement 2022 Towards an effective learning recovery for all and transforming education in Asia-Pacific จึงเป็นการเน้นย้ำว่า ประเทศไทยและภาคส่วนต่าง ๆ มีความมุ่งมั่นที่จะขับเคลื่อนด้านการศึกษา ไม่เพียงแต่ในระดับประเทศเท่านั้น แต่เป็นการฟื้นฟูและพัฒนาการศึกษาทุกมิติตามเจตนารมณ์ของภูมิภาคและเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เป้าหมายที่ 4 อย่างเข้มแข็ง และในการประชุม Transforming Education Summit เดือนกันยายนนี้ ประเทศไทยจะได้แสดงวิสัยทัศน์ นำเสนอถ้อยแถลง รวมถึงรายงานผลการหารือระดับชาติที่ครอบคลุมแนวทางปฏิบัติการทั้ง 5 หัวข้อ ได้แก่ การศึกษาที่ครอบคลุม การเรียนรู้ ทักษะชีวิตและงาน การเปลี่ยนแปลงด้านดิจิทัล การพัฒนาครู และงบประมาณด้านการศึกษา เพื่อนำไปสู่การพลิกโฉมการศึกษาให้สอดรับกับบริบทโลกยุคปัจจุบัน รวมถึงการนำข้อเสนอไปพัฒนาในการบรรลุตามวัตถุประสงค์ในเรื่องของการพัฒนาที่ยั่งยืนต่อไป
รมว.ศึกษาธิการ ร่วมวงระดมความคิดเห็นพลิกโฉมการศึกษาไทย เด็กทุนคนต้องได้รับโอกาสทางการศึกษาอย่างเท่าเทียม
ที่มา ; เดลินิวส์ 9 สิงหาคม 2565