ค้นหา

"Google for Education " การเรียนรู้ยุคไฮบริดเพื่ออัพคุณภาพเด็ก

เกือบ 3 ปี ที่ผ่านมา ภาคการศึกษาของประเทศไทย ได้มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการเรียนการสอน โดยมุ่งสู่ “การเรียนแบบไฮบริด”มากขึ้น คือ เรียนทั้งในรูปแบบออนไลน์ และออนไซต์ นำเทคโนโลยีมาใช้ร่วมกับการเรียนการสอนแบบดั้งเดิม ทำให้การเรียนการสอนไม่จำกัดเฉพาะในห้องเรียน 

วันนี้ (18 ส.ค.2565)  Google ร่วมกับ โรงเรียนในประเทศไทย เพื่อเตรียมความพร้อมนักเรียนและครูผู้สอนในการก้าวเข้าสู่ยุคไฮบริด ดำเนินตามวิสัยทัศน์ “Leave no Thai Behind” ที่มุ่งมั่นให้ทุกคนสามารถเข้าถึงประสบการณ์การเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพ และให้นักเรียนทุกคนตระหนักถึงศักยภาพการเรียนรู้โดยปราศจากข้อจำกัดด้านสถานที่ 

น.ส.ศารณีย์ บุญฤทธิ์ธงไชย หัวหน้าฝ่ายการตลาด บริษัท Google ประเทศไทย กล่าวว่า การศึกษาเป็นเสาหลักของเศรษฐกิจและสังคมไทย Google ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ได้มีการจัดระเบียบข้อมูลของโลก เพื่อให้ทุกคนได้เข้าถึงข้อมูล เข้าใจ นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทั้งตัวเองและสังคม โดย Google มีวิสัยทัศน์และภารกิจหลัก ในการสร้างเครื่องมือ ออกแบบจักรวาลแห่งการเรียนรู้แก่คนทุกกลุ่ม ดังนั้น เครื่องมือที่ทาง Google พัฒนาขึ้นนั้นจะเป็นตัวช่วยให้ผู้คนได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ  กระตุ้นความอยากรู้อยากเห็น ช่วยให้ผู้คนสร้างองค์ความรู้ โดยเชื่อมโยงเข้ากับประสบการเรียนรู้ที่เหมาะสม 

เราเชื่อว่าทุกคนต้องได้รับประสบการณ์การเรียนรู้ที่ดี เพื่อให้โรงเรียน ผู้สอนมีเครื่องมือในการฝึกอบรมมากขึ้น สู่การเปลี่ยนแปลงการเรียนการสอน ส่งเสริมให้ผู้เรียนได้เรียนรู้อย่างเต็มศักยภาพ  โดยขณะนี้ได้ช่วยให้นักเรียน นักศึกษาและผู้นำในสถานศึกษามากกว่า 170 ล้านคน ดำเนินการเรียนการสอนได้ รวมถึงมี Cromebook ที่ใช้เพื่อการศึกษาทั่วโลก 50 ล้านเครื่อง น.ส.ศารณีย์ กล่าว 

การเรียนยุคไฮบริดต้องใช้เทคโนโลยีช่วยพัฒนาการศึกษา

น.ส.ศารณีย์ กล่าวต่อว่า 82% ของนักการศึกษา คาดว่าการผสมผสานการใช้เทคโนโลยีเข้ากับการศึกษาได้ดีที่สุด  เนื่องจากเทคโนโลยีมีบทบาทในการศึกษามากขึ้น  ทำให้เกิดนวัตกรรมและปัญหาท้าทายที่จะต้องแก้ไขร่วมด้วย ตอนนี้มีชุมชนการศึกษาสร้างแรงบันดาลใจให้แก่นักเรียนอย่างต่อเนื่อง  ซึ่ง Googleมุ่งมั่น สนับสนุนผู้นำของโรงเรียน นักศึกษา เตรียมเครื่องมือให้แก่นักเรียน ช่วยให้ผู้นำใช้นวัตกรรมของโรงเรียนได้มากขึ้น พัฒนาเครื่องมือ พัฒนาทักษะที่จำเป็นแก่นักเรียนทุกคน 

ไฮบริดคืออนาคตของการศึกษา นั่นหมายความว่า หากในอนาคตเกิดโรคระบาดหรือสถานการณ์ใดๆ ที่อาจส่งผลต่อการเรียนการสอนในห้องเรียน เราจะต้องตั้งรับและพร้อมที่จะปรับเปลี่ยนวิธีการสอนเพื่อให้การเรียนไม่หยุดชะงัก น.ส.ศารณีย์ กล่าว 

ในขณะที่ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่ยุคแห่งการเรียนรู้แบบไฮบริด เครื่องมือ Google for Education ก็จะพัฒนาอย่างไม่หยุดยั้ง เพื่อสนับสนุนการศึกษาของไทยให้มีความยืดหยุ่นสอดคล้องกับการเรียนในห้องเรียนและการเรียนออนไลน์   ที่เปี่ยมไปด้วยคุณภาพ เพื่อให้นักเรียนและครูผู้สอนมีประสบการณ์การเรียนรู้ที่สมบูรณ์แบบไม่ว่าพวกเขา  จะอยู่ที่ใดก็ตาม 

Google for Education ได้ร่วมกับโรงเรียนไทย 4 แห่ง ในการปรับรูปแบบการเรียนการสอน โดยใช้เครื่องมือ Google for Education ทั้งในส่วนของฮาร์ดแวร์และซอฟท์แวร์ เพื่อช่วยให้ครูผู้สอนและนักเรียนสามารถสื่อสารกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ และยังเป็นการยกระดับประสบการณ์การเรียนรู้อีกด้วย 

 Google ยกระดับการสอนครู อัพคุณภาพเด็ก

ปัจจุบันหลายโรงเรียนได้เรียนรู้แบบไฮบริด หรือการเรียนรู้แบบผสมผสานระหว่างเรียนในชั้นเรียนและเรียนออนไลน์ จำเป็นที่นักการศึกษาต้องเรียนรู้วิธีที่นำเทคโนโลยีด้านการศึกษามาช่วยขยายวิธีการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นนอกห้องเรียน 

น.ส.ทิพย์ภาภรณ์ สะเดา รองหัวหน้ากลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โรงเรียนมัธยมวัดนายโรง  กล่าวว่าโรงเรียนเริ่มใช้เครื่องมือจาก Google  มาตั้งแต่ปี 2556 และมีการใช้มาตลอดก่อนที่จะเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ทำให้ทั้งครู บุคลากรทางการศึกษา และนักเรียนมีความคุ้นเคย และใช้เครื่องมือของ Google ได้อยู่แล้ว โดยช่วงแรกของการใช้จะมีการเทรนครู บุคลากรทางการศึกษา และนักเรียน เพื่อให้สามารถใช้เครื่องมือต่างๆ ของ Google ได้  ไม่ว่าจะเป็น Google Meet ,Google Docs, Google Sheets, Google Slides และ Google Forms เป็นต้น 

ตอนนี้โรงเรียนมีการเรียนการสอนแบบไฮบริด มีการจัดห้องเรียนออนไลน์ Google Classroom ควบคู่กับการสอนในชั้นเรียนเพื่อสร้างประสบการณ์การเรียนการสอนที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ โรงเรียนส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีโดยมี Chromebook ให้ครูและนักเรียนสามารถยืมเพื่อนำไปใช้ในการเรียนการสอนในชั้นเรียน ทำให้นักเรียนสามารถเรียนได้ทุกที่ไม่ว่าพวกเขาจะอยู่ที่ไหน” น.ส.ทิพย์ภาภรณ์ กล่าว 

โรงเรียนมัธยมวัดนายโรง” จะมุ่งเน้นการสร้างให้ห้องเรียนเป็นแหล่งการเรียนรู้  โดยเน้นภาษาและเทคโนโลยี ซึ่งถือเป็นเครื่องมือในการพัฒนานักเรียนในศตวรรษที่ 21 ดังนั้น จะมีการเทรนนักเรียนทุกคนในโรงเรียน และครูให้สามารถใช้ มีแอปพลิเคชั่น ของ Google ได้ 

เสริมการเรียนรู้ตลอดเวลา ไม่จำกัดเฉพาะชั้นเรียน 

น.ส.อรวีร์ รัตนเพียร ผู้จัดการโรงเรียนมัธยมปัญญารัตน์  กล่าวว่าโรงเรียนมัธยมปัญญารัตน์เริ่มใช้ Google for Education ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2554 และมีการใช้ Chromebook ตั้งแต่ก่อนการระบาดของโรคโควิด-19  ซึ่งครู และเด็กทุกคนมีการใช้เครื่องมือของ Google ได้อยู่แล้ว และเรามีอุปกรณ์เครื่องมือต่างๆ เพื่อให้เด็กได้เกิดการเรียนรู้ตลอดเวลา ไม่หยุดนิ่งของการเรียนรู้ 

เมื่อเกิดการแพร่ระบาดโควิด โรงเรียนได้ปรับไปสู่การเรียนออนไลน์100% ซึ่งเด็กและครูของเรามีความคุ้นชินกับการเรียนผ่านเครื่องมือของ Google อยู่แล้ว ทำให้เกิดการส่งเสริมการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง โดย โรงเรียนใช้ Chrome Education Upgrade ในการพัฒนาศักยภาพและการทำงานให้กับครูผู้สอน โดยมีฟีเจอร์ที่มีประโยชน์มากมายให้พวกเขาใช้งาน อาทิ เครื่องมือขั้นสูงในการทำงานด้านแอดมินและด้านความปลอดภัย นอกจากนั้น นักเรียนยังมีทักษะเพิ่มเติมจากการเรียนออนไลน์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการสื่อสารและการทำงานเป็นทีมน.ส.อรวีร์ กล่าว 

โลกมีการหมุนอย่างรวดเร็ว ถ้าโรงเรียนไม่ทำให้เด็กเข้าใจเครื่องมือ เป็นพลเมืองดิจิตอลที่ดี อันนำไปสู่การเป็นพลเมืองโลกที่ดี เขาอาจจะไม่พร้อมในโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ซึ่ง “Chromebook” มีประโยชน์อย่างมาก เพราะโรงเรียนสามารถควบคุมเว็บไซต์ หรือแอปพลิเคชั่นต่างๆ เพื่อให้เด็กเข้าถึงองค์ความรู้ที่เหมาะสมกับเขา ขณะเดียวกัน Chromebook ทำให้เด็กมีความเท่าเทียม  และทุกคนในโรงเรียนใช้   Google for Education อยู่แล้ว Chromebook จึงตอบโจทย์ให้สามารถเข้าทุกเครื่องมือของ Google ได้ 

กระตุ้นความคิดสร้างสรรค์ ทำงานเป็นทีม

ดร. สุมนา ธิกุลวงษ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนฤทธิยะวรรณาลัย กล่าวว่าโรงเรียนฤทธิยะวรรณาลัยต้องการจะปรับเปลี่ยนรูปแบบกิจกรรมในห้องเรียนโดยนำเทคโนโลยีมาใช้ในการสร้างประสบการณ์การเรียนรู้ที่ส่งเสริมปฏิสัมพันธ์ระหว่างนักเรียนและครูผู้สอนเพื่อให้เกิดการทำงานเป็นทีมและกระตุ้นความคิดสร้างสรรค์ ในขณะเดียวกัน ทางโรงเรียนก็มองหาเครื่องมือที่ช่วยให้ครูผู้สอนประหยัดเวลาและทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

โรงเรียนริเริ่มโครงการนำร่องโดยเริ่มให้ครูและนักเรียนกลุ่มเล็กๆ ใช้ Google for Education และ Chromebook เป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมในห้องเรียน หลังจากวัดผลโดยใช้เกณฑ์การให้คะแนนแบบรูบริคภายใต้คำแนะนำจากนักวิจัยจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เราพบว่านักเรียนมีคะแนนเฉลี่ยด้านความคิดสร้างสรรค์ การทำงานเป็นทีม และ ความคิดวิเคราะห์เพิ่มขึ้นจาก 50/100 เป็น 68/100 ภายในระยะเวลา 3 เดือน นอกจากนั้น ครูผู้สอนกว่าร้อยละ 85 สังเกตว่านักเรียนมีพัฒนาการด้านทักษะการทำงานร่วมกัน และครูผู้สอนกว่าร้อยละ 62 ยังเห็นตรงกันว่านักเรียนสามารถเรียนรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น และนักเรียนยังมีความกระตือรือร้นมากยิ่งขึ้นในการทำกิจกรรมในห้องเรียนอีกด้วย” ดร. สุมนา กล่าว 

ทั้งนี้ สำหรับการใช้เครื่องมือ Google for Education จะมีการศึกษาในรายวิชาของตนเอง เพื่อเลือกเครื่องมือนำมาใช้ให้เหมาะสมกับการสอน ทำให้ครูต้องไปศึกษาการใช้งาน และจะมีผู้เชี่ยวชาญคอยอบรมให้ความรู้แก่ครู  โดยในการนำเครื่องมือไปใช้ จะมีการกระตุ้นการคิด เพื่อนำไปสู่กิจกรรม และมีแบบฝึกหัดให้แก่เด็กเป็นการทดสอบการเรียน และส่งงาน ส่งคะแนนให้แก่เด็ก  หรือครูจะให้นักเรียนระดมความคิดเห็นผ่านกิจกรรม ที่มีการกำหนดสถานการณ์ มีการใช้เครื่องมือ  Google Docs, Google Sheets ในการจัดทำรายงาน และมีการฟีเจอร์อื่นๆ ให้เด็กได้เรียนรู้ โดยครูจะมีเครื่องมือนำมาประกอบการสอน ทำให้เด็กสนุกในการเรียนรู้ และเด็กเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการเรียนการสอน 

บริหารข้อมูล ช่วยผู้บริหารพัฒนาหลักสูตร เชื่อมโยงครูทั้งเครือข่าย

นายปรัชญากร ฮดมาลี รองผู้อำนวยการโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย เลย กล่าวว่า เครื่องมือ Google for Education เช่น Google Docs ช่วยให้นักเรียนของเราสามารถติดต่อสื่อสารและทำงานร่วมกับนักเรียนจากทั่วโลก ทำให้พวกเขาเรียนรู้ภายใต้ความแตกต่างและเสริมสร้างทัศนะที่กว้างไกล เครื่องมือดังกล่าวยังช่วยให้ครูผู้สอนสามารถออกแบบหลักสูตรและบทเรียนร่วมกับคุณครูจากโรงเรียนอื่นในเครือข่ายได้อีกด้วย

ทุกปีจะมีการปรับปรุงและพัฒนาหลักสูตร ซึ่งโรงเรียนทั้ง 12 แห่ง จะมีการจัดทำแผนการสอน พัฒนาหลักสูตร และการจัดเนื้อหาต่างๆ ร่วมกัน เมื่อมี Google for Education ได้นำมาใช้ทั้งในการจัดการข้อมูล การบริหารจัดการองค์กร โดยใช้Google Docs, Google Sheets, Google Slides และมีการเข้าถึงข้อมูลได้ง่ายมากขึ้น รวมถึงมีการใช้Google Meet ในการประชุมร่วมกัน แลกเปลี่ยนร่วมกัน เป็นการจัดส่งแผนการสอนผ่าน Google Forms เพื่อให้ผู้นิเทศก์เข้าไปนิเทศก์การสอน ทำให้สะดวกในการบริหารจัดการข้อมูลได้ 

ในปี 2565 Google Classroom ให้ความช่วยเหลือและสนับสนุนด้านการเรียนการสอนกับนักเรียน นักการศึกษา และผู้นำโรงเรียนทั่วโลกกว่า 150 ล้านคน นอกจากนั้น Google for Education ยังให้บริการเครื่องมือเพื่อเสริมสร้างการทำงานเป็นทีม  อีกทั้งให้นักเรียนและครูผู้สอนจัดการการบ้านและโปรเจกต์ร่วมกัน และยังมีเครื่องมือด้านการสื่อสาร เช่น  Google Meet, Gmail และ Chat ที่ช่วยเชื่อมต่อครูผู้สอนและนักเรียนเข้าด้วยกัน 

ที่มา ; บางกอกโพสต์ 18 ส.ค. 2565 

ข่าวเกี่ยวกัน

ต้องเพิ่มทักษะดิจิทัลอะไร? ช่วยให้เรียนจบไม่ตกงาน

ในยุคที่เศรฐกิจยังตกสะเก็ด โดนพิษจากราคาน้ำมัน เงินเฟ้อพุ่งสูง สินค้าดาหน้าขึ้นราคา ทำเงินในกระเป๋าลดลง สร้างความไม่มั่นใจให้ประชาชน

ในยุคที่เศรฐกิจยังตกสะเก็ด โดนพิษจากราคาน้ำมัน เงินเฟ้อพุ่งสูง สินค้าดาหน้าขึ้นราคา ทำเงินในกระเป๋าลดลง สร้างความไม่มั่นใจให้ประชาชน คนทำมาหาเงิน เดือดร้อนเป็นวงกว้าง 

การขับเคลื่อนเศราฐกิจในอนาคตจำเป็นต้องใช้ดิจิทัลมาช่วย โดยเฉพาะในธุรกิจต่างๆ เพื่อสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน แต่ในปัจจุบันต้องยอมรับว่า แรงงานที่มีทักษะดิจิทัลของไทย ยังขาดแคลน!! 

ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์”  ผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า  ฉายภาพให้เห็นถึง ตลาดแรงงานด้านดิจิทัล ว่า  การเกิด ดิจิทัล ดิสรัปชัน ในวงการต่างๆ ทำให้ธุรกิจต้องเร่งเปลี่ยนผ่านไปสู่ดิจิทัล ซึ่งจำเป็นต้องอาศัย แรงงานที่มีทักษะด้านดิจิทัล ทั้งด้าน เอไอ บิ๊กดาต้า คลาว์ด  ไอโอที และ ออโต้เมชั่น โรบอท ฯลฯ แต่ปัจจุบันภาคการศีกษาของไทย สามารถผลิตแรงงานด้านนี้ที่เป็นเด็กจบใหม่ในแต่ละปีได้ประมาณ 25,000-30,000 คน ต่อปี เท่านั้น 

โดย 50% จะเข้าสู่อุตสาหกรรม และประกอบธุรกิจของตนเอง ส่วนอีก 50% จะไปอยู่ในสายอาชีพอื่น หรือที่เรียกว่า นอน เทค จึงทำให้ประเทศขาดแรงงานด้านนี้ ขณะเดียวกันจากผลสำรวจ พบว่าประเทศไทยต้องการแรงงานด้านดิจิทัลเฉลี่ยปีละ 1 แสนราย จึงทำให้ขาดแคลนอยู่ 6-7 หมื่นคน ซึ่งเป็นปัญหาที่ต้องรีบแก้ไข 

ขณะเดียวกันในมุมมองภาคอุตสาหกรรม อย่าง  “ไพฑูรย์ ศิริฉัตรชัยกุล” รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และ ประธานสถาบันเทคโนโลยี และการสื่อสารเพื่ออุตสาหกรรม (ICTI)  บอกว่า  สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)  มีเครือข่ายอยู่ทั่วประเทศ 76 จังหวัด ครอบคลุมทุกอุตสาหกรรม ซึ่งก่อนโควิด-19 ได้สำรวจพบว่า  ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ กว่า 64%  บอกว่า องค์กรของตนเองมีบุคลากรด้านไอที ไม่เพียงพอ โดยเฉพาะผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม( เอสเอ็มอี) ที่มีบุคลากรด้านไอทีในองค์กร ประมาณ 1-5 คนเท่านั้น!! 

 ขณะที่รูปแบบของการจัดจ้างบุคลากรส่วนใหญ่เลือกที่จะจัดจ้างแบบ Outsource Service มากที่สุดถึง 38%  และเมื่อเกิดโควิด-19 ใน 2 ปีกว่าที่ผ่านมา เป็นตัวเร่งที่ต้องปรับตัว ส่งผลให้ทักษะดิจิทัล ด้าน ไอโอที บิ๊กดาต้า และคลาว์ด เป็นที่ต้องการเพิ่มขึ้นอย่างมาก 

ทักษะด้านดิจิทัลในปัจจุบันไม่ได้อยู่ในสายไอทีอย่างเดียวแล้ว หากรักการเรียนรู้ และมุ่งมั่นอุตสาหะ เชื่อว่าจะสามารถ พัฒนาสกิล หรือ ทักษะในด้านนี้ได้ ไม่ว่าจะเป็นสายงานบริหาร ลอจิสติกส์ และการตลาดฯลฯ  หากเรียนรู้เพิ่มเติมในคอร์สเรียนต่างๆระยะสั้น ไม่จำเป็นต้องเป็นถึงผู้เชี่ยวชาญ ก็เป็นที่ต้องการขององค์กรธุรกิจต่างๆ”.

ซึ่งปัจจุบันตำแหน่งงานที่มีความต้องการสูงที่สุด 5 อันดับ ได้แก่ งานบริหารด้าน IT (IT Management) งานนักเขียนโปรแกรม (Programmer) งานผู้ดูแลระบบและเครือข่าย (Network Admin Jobs) งานด้านพัฒนาและดูแลระบบ CRM / ERP และงานเว็บไซต์ ตามลำดับ 

อย่างไรก็ตามแม้ในช่วงที่ผ่านมาจะมีกระแสบริษัทเทคในต่างประเทศ ชะลอการจ้างงาน หรือมีปลดคนออกนั้น ในมุมมองของ ผอ.ดีป้า มองว่า  เป็นวัฎจักร หรือ วงรอบของธุรกิจ เพราะก่อนเกิดโควิด-19 บริษัทเหล่านี้มีการเติบโตสูงมากและยิ่งเมื่อเกิดสถานการณ์โควิด ที่ต้องธุรกิจใช้ดิจิทัลเพิ่มมากขึ้น จึงต้องเร่งรับคนเข้ามา แต่ปัจจุบันเมื่อถึงจุดที่เศรษฐกิจถดถอย ก็จำเป็นต้องเลย์ออฟคนออก

แต่เมื่อมองที่ประเทศไทยมีธุรกิจที่เป็นกิจการอยู่ 3 ล้านราย และจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลประมาณ 7 แสนราย ที่เป็นภาคผลิต และการค้าและบริการ ซึ่งกลุ่มเหล่านี้ยังเป็นกลุ่ม 1.0 และ 2.0 และยังไม่มีบุคลากรรองรับในโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ซึ่งประเทศไทย ไม่ได้รับผลกระทบและยังขาดแคลนแรงงานดิจิทัลต่อเนื่อง ต่อการเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมของประเทศ!!.

ทั้งนี้เพื่อเป็นการเร่งพัฒนากำลังคนดิจิทัล ทาง ดีป้า  และ ส.อ.ท. จึงได้ร่วมกับ และเครือข่ายพันธมิตรภาคการศึกษา ประกอบด้วย สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย , ม.ธุรกิจบัณฑิตย์ , ม.เกษตรศาสตร์ และ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง  จัดโครงการรัฐร่วมเอกชนส่งเสริมทักษะใหม่ นักศึกษาวัยหางาน 

เพื่อเร่งสร้างกำลังคนดิจิทัลในกลุ่มของนิสิตและนักศึกษาชั้นปีสุดท้าย รวมถึงบัณฑิตจบใหม่ ไม่เกิน 2 ปี ทั้งในสาขาเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอที) และสาขาทั่วไป (นอน ไอที) ที่ต้องการเข้ามาทำงานในสายงานที่เกี่ยวข้อง กับเทคโนโลยีดิจิทัล ให้มีความพร้อมผ่านการส่งเสริมทักษะที่ตรงตามความต้องการของผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรม เพื่อป้อนเข้าสู่ระบบ ในสาขาที่ขาดแคลน คือ เอไอ , ไอโอทีแมทชีน เลิร์นนิ่งคลาว์ด คอมพิวติ้ง  และ ดิจิทัล มาร์เก็ตติ้ง รวมจำนวนกว่า 1,000 คน ผ่านทางมหาวิทยาลัยในเครือข่ายพันธมิตรภาคการศึกษา 

นอกจากนี้ยังจับมือกับบริษัทเอกชนด้านไอที อาทิ อเมซอน  , ไมโครซอฟท์ , เอสซีบี อคาเดมี่ สมาคมไอโอที กละกลุ่มธุรกิจการค้าชั้นนำ  เพื่อออกแบบหลักสูตร ให้ตรงตามความต้องการ ของภาคอุตสาหกรรม และมีประกาศนียบัตรเพื่อเป็นใบเบิกทาง !! ในการสมัครงานผ่านกิจกรรม จ๊อบแฟร์ ที่เป็นการรับประกันว่า เกิดการจ้างงานจริงในระบบเศรษฐกิจ !?! 

สิ่งสำคัญอีกหนึ่งอย่างของโครงการนี้ ก็คือ ทั้ง ดีป้า และ ส.อ.ท. ได้จัดโครงการส่งเสริมการจ้างงานนักศึกษาวัยหางาน ด้วย โดยจะสนับสนุน เงินเดือนไม่เกิน 50% สูงสุด 6,500 บาทต่อเดือน ตลอดระยะเวลา 1 ปี แก่นายจ้างภาคเอกชนที่ต้องการจ้างงานน้อง ๆ แบ่งเป็นการจ้างงานกำลังคนในสาย ไอที 20  คน โดยสมัครผ่านทางดีป้า  และ ในสาย นอน ไอที ที่ต้องการเปลี่ยนผ่านมาทำงานในสายงานไอที  100  คน สมัครผ่าน ICTI  ถึงวันที่ 15 ก.ย.นี้ ดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่ www.icti.fti.or.th   ทำให้จะมีการเปิดรับแรงงานรวมทั้งสิ้น 120 อัตรา ในปีนี้

ส่วนในปีหน้าก็มีเป้าหมายรับเพิ่มอีกไม่น้อยกว่า 100 อัตรา เช่นกัน!?! เพื่อให้กำลังคนเหล่านี้เป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญ ในการยกระดับ ภาคอุตสาหกรรมดิจิทัลของประเทศ !! 

ซึ่งหากประสบความสำเร็จในอนาคตก็อาจจะมีการนำเสนอรัฐบาลให้พิจารณามาตรการเรื่องภาษี เพื่อให้บริษัทที่จ้างแรงงานเหล่านี้ ทำงานสามารถลดหย่อนภาษีได้ด้วย?? 

ถือเป็นโครงการที่ช่วยส่งเสริมการพัฒนาทักษะดิจิทัล และให้เกิดการจ้างงานกับแรงงานทั่วไป ที่ต้องการเปลี่ยนมาทำงานสายไอที ช่วยยลดการขาดแคลนแรงงานด้านนี้

บทความโดย จิราวัฒน์ จารุพันธ์ 

ที่มา ; เดลินิวส์ 21 สิงหาคม 2565

ความเห็นของผู้ชม

 แสดงความคิดเห็น