เมื่อวันที่ 5 กันยายน น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยว่า ตามที่ศธ. ได้จัดสอบคัดเลือกผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) ประจำปี 2565 แทนตำแหน่งว่างรวม 77 ตำแหน่ง โดยมีผู้ได้รับการประกาศชื่อขึ้นบัญชีทั้งหมด 498 รายนั้น
(คลิกผลสอบ>>> ขึ้นบัญชี 1 กันยายน 2565 หมดบัญชี 1 กันยายน 2567)
ขณะนี้ทราบว่ามีกลุ่มผู้เข้าสอบจำนวนหนึ่ง ทำหนังสือขออุทธรณ์โต้แย้งประกาศฯ รายชื่อผู้ได้รับการคัดเลือกเพื่อบรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการเขตพื้นที่ฯ รวมถึงได้มีการร้องไปยังศาลปกครองและคณะกรรมาธิการการศึกษา (กมธ.) สภาผู้แทนราษฎร นั้น
ส่วนตัวมองว่า เป็นการร้องเรียนตามขั้นตอนปกติ โดยในการจัดสอบตนได้ย้ำ กับนายสุภัทร จำปาทอง ปลัดศธ. และนายประวิต เอราวรรณ์ เลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.)ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินการ ให้ทำหลักธรรมาภิบาลโปร่งใส และเชื่อว่า จะสามารถตอบได้ทุกข้อสงสัย ทั้งการสอบภาค ก ภาคข ที่จะดูในเรื่องของผลงานต่าง ๆ ทุกอย่างพยายามให้เป็นวิทยาศาสตร์ สามารถชี้วัดได้มากที่สุด ส่วนใครที่มีความประสงค์จะขอดูคะแนน ก็สามารถทำเรื่องสอบถามมาได้ที่ สำนักงานก.ค.ศ.
ผู้สื่อข่าวถามว่า หากศาลปกครองรับคำร้องจะต้องชะลอการบรรจุแต่งตั้งหรือไม่ น.ส.ตรีนุช กล่าวว่า หากศาลปกครองรับเรื่องแล้ว ก็ต้องรอดูคำวินิจฉัยขอศาลปกครอง ว่าจะเป็นไปในทิศทางใด เพราะเท่าที่ดูภาพรวมไม่ได้มีปัญหาอะไร อาจจะมีเฉพาะบางกลุ่มที่อาจจะมีความกังวลและทำเรื่องอุทธรณ์มา
“เท่าที่ได้รับรายงานภาพรวมการจัดสอบเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ไม่ว่าจะเป็นกระบวนการจัดสอบได้กำชับให้ดูแลใกล้ชิด ตัวชี้วัดและการให้คะแนนต่าง ๆ ต้องสามารถจับต้องได้ ทุกอย่างสามารถตรวจสอบ ซึ่งจากนี้ต้องดำเนินการบรรจุแต่งตั้งไปตามขั้นตอน เพราะต้องเร่งงานนโยบายหลายๆ เรื่อง งานบางอย่างรอไม่ได้ ผู้อำนวยการเขตพื้นที่ฯ ก็มีความจำเป็น จากนี้ต้องดำเนินการคัดเลือกผู้อำนวยการโรงเรียน เพื่อไม่ให้กระทบกับการทำงาน ดังนั้นคงต้องดำเนินการบรรจุแต่งตั้งไปตามปฏิทินที่กำหนด”น.ส.ตรีนุช กล่าว
นายสุภัทร จำปาทอง ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กล่าวว่า การดำเนินการสรรหาฯ เป็นไปตามกระบวนการ โปร่งใส และไม่มีการทุจริต และไม่มีการซื้อขายตำแหน่งอย่างแน่นอน ทั้งนี้หากใครมีข้อสงสัย สามารถยื่นเรื่องสอบถามคะแนนมาได้ที่ สำนักงาน ก.ค.ศ. ตามระบบ ส่วนจะกระทบกับการบรรจุแต่งตั้งหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับต้นสังกัดอย่างสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จะพิจารณา
“ผมไม่กังวล เพราะทำอย่างโปร่งใส บริสุทธิ์ ยุติธรรมมากที่สุด ไม่แน่ใจว่ากลุ่มที่ออกมาคัดค้านเป็นกลุ่มที่เสียผลประโยชน์หรือไม่ เพราะก่อนหน้าที่จะมีการสอบ มีกระแสข่าวมาตลอดว่ามีกลุ่มที่ไปล่อขาย และมีคนเสียเงินไปแล้วยืนยันว่าผมทำทุกอย่างตรงไปตรงมา ไม่มีการทุจริตแน่นอน ใครที่สงสัยสามารถขอดูคะแนนได้ที่ก.ค.ศ. สำหรับผู้สอบผ่านจำนวน 498 ราย จากผู้สอบผ่านภาคก และข ทั้งหมด 500 รายนั้น ถือเป็นตัวเลขปกติ หากผู้เข้าสอบมีความสามารถ ตามคะแนนขั้นต่ำที่กำหนดไว้ ร้อยละ60 ก็ต้องมีชื่อในการประกาศขึ้นบัญชี ทุกอย่างเป็นไปตามกติกา เมื่อสอบครบทั้ง 3 ภาค คือ ภาค ก ภาคข และค มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ก็จะเป็นผู้รวมคะแนนเพื่อประกาศรายชื่อตามขั้นตอน” นายสุภัทร กล่าว
นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(กพฐ.)กล่าวว่า ตนทราบเรื่องดังกล่าวแล้ว แต่ต้องดำเนินการบรรจุแต่งตั้งตามปฏิทินที่กำหนด โดยจะเรียกผู้ที่ได้รับการขึ้นบัญชีทั้ง 77 ลำดับแรก มารายงานตัวเพื่อเตรียมบรรจุแต่งตั้งภายในวันที่ 21 กันยายน จากนั้นจะเสนอรายชื่อ ผู้ได้รับการบรรจุแต่งตั้ง เข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการก.ค.ศ. ก่อน และเมื่อเห็นชอบแล้วก็จะลงนามแต่งตั้งต่อไป
ที่มา ; มติชนออนไลน์ 5 กันยายน 2565
ข่าวเกี่ยวกัน
“สุภัทร” ยินดีกลุ่มผู้สมัครสอบ ผอ.สพท.ขอเปิดคะแนนสอบ
เมื่อวันที่ 7 ก.ย. ดร.สุภัทร จำปาทอง ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยว่า ตามที่ตนได้ลงนามประกาศคณะกรรมการสรรหาผู้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา เรื่องรายชื่อผู้ได้รับการคัดเลือกให้บรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา จำนวน 498 รายนั้น จะต้องมีการเรียกบรรจุตามกรอบปฏิทินที่เรากำหนดไว้ ส่วนกรณีมีกลุ่มผู้สมัครสอบได้ไปยื่นคำร้องการประกาศบรรจุแต่งตั้งดังกล่าวไปยังศาลปกครองจังหวัดอุบลราชธานี ก็เป็นเรื่องที่สามารถดำเนินการได้ตามสิทธิของแต่ละคน โดยยืนยันว่าการจัดสอบดังกล่าวเป็นกระบวนการที่โปร่งใส และตรวจสอบได้ ซึ่งตนสามารถอธิบายได้ทุกขั้นตอน อีกทั้งการจัดสอบครั้งนี้ไม่มีอำนาจการแทรกแซงจากใครทั้งสิ้น อย่างไรก็ตาม ขณะนี้รับทราบว่ามีผู้สมัครสอบเข้ามาขอดูคะแนนสอบประมาณ 50 ราย ก็เป็นเรื่องยินดี เนื่องจากเป็นหน้าที่ของสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ที่จะต้องชี้แจงและเปิดให้ดูคะแนนสอบได้อยู่แล้ว
ปลัด ศธ. กล่าวต่อไปว่า ส่วนการจัดทำหลักเกณฑ์การสรรหาเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) นั้นขณะนี้ น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศึกษาธิการ ได้มีการพิจารณาหลักเกณฑ์ดังกล่าวในที่ประชุม สกสค. ที่ผ่านมาแล้ว ซึ่ง น.ส.ตรีนุช มอบให้ตนกลับมาแก้ไขในรายละเอียดหลักเกณฑ์การสรรหา 2-3 ข้อ และตนอยู่ระหว่างการปรับแก้ไขอยู่ โดยภายในสัปดาห์นี้จะเสนอหลักเกณฑ์การสรรหา สกสค.ให้ รมว.ศึกษาธิการ พิจารณาได้อย่างแน่นอน ขณะที่หลักเกณฑ์การสรรหา ผอ.องค์การค้าฯ นั้น ตนกำลังร่างเกณฑ์การสรรหา ผอ.องค์การค้าฯ ไว้คร่าวๆ จากนั้นจะเสนอให้ รมว.ศึกษาธิการ ไปตั้งคณะอนุกรรมการจัดทำเกณฑ์สรรหาเอง
ปลัด ศธ.เผยกระบวนการสอบ ผอ.สพท.โปร่งใส ย้ำไม่มีใครเข้ามาแทรกแซง แจงตรวจสอบได้ทุกขั้นตอน พร้อมยินดีผู้เข้าสอบจะขอดูคะแนนสอบ
ที่มา ; เดลินิวส์ 7 กันยายน 2565
ข่าวเกี่ยวกัน
กลุ่มผู้สมัครสอบผอ.สพท.ยื่นกมธ.การศึกษา ขอชะลอการบรรจุผอ.เขตพื้นที่
เมื่อวันที่ 7 ก.ย. ดร.ภูมิ พระรักษา รองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) สมุทรปราการ เขต 1 เปิดเผยว่า ตามที่ ดร.สุภัทร จำปาทอง ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ได้ลงนามประกาศคณะกรรมการสรรหาผู้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา เรื่องรายชื่อผู้ได้รับการคัดเลือกให้บรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา จำนวน 498 รายนั้น ตนในฐานะผู้สมัครสอบคัดเลือก ผอ.สพท. ต้องการให้ปลัด ศธ. ชะลอการบรรจุแต่งตั้งดังกล่าวออกไปก่อน เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม และไม่สร้างความเสียหายให้แก่วงราชการไปมากกว่านี้ เนื่องจาตนมองว่าเกณฑ์การสอบ ภาค ข และภาค ค มีความไม่เป็นธรรมเกิดขึ้น เนื่องจากผู้ที่มีประสบการณ์และอายุราชการน้อยกลับมีผลการสอบลำดับดีกว่าผู้ที่มีประวัติและอายุราชการที่มากกว่า ซึ่งตนมองว่าหลักเกณ์การสอบภาค ข และภาค ค ควรให้ผู้ที่มีประสบการณ์ในการทำงานเขตพื้นที่ยาวนานได้รับคะแนนที่สูงกว่า ทั้งนี้ที่ผ่านมาตนเคยยื่นเรื่องถึง ดร.สุภัทร ให้ปรับแก้เกณฑ์การสอบ ภาค ข และ ภาค ค มาแล้ว แต่ก็ยังไม่มีการดำเนินการใดๆ จนในที่สุดก็มีการประกาศขึ้นบัญชี ผอ.สพท.ออกมา ซึ่งตนมองว่าไม่เป็นธรรม อย่างไรก็ตามตนได้ยื่นเรื่องดังกล่าวไปที่คณะกรรมาธิการการศึกษา ของสภาผู้แทนราษฎร์ และทราบว่า กมธ.รับเรื่องไว้พิจารณาแล้วเช่นกัน
กลุ่มผู้สมัครสอบคัดเลือก ผอ.สพท. ยื่น กมธ.การศึกษา ขอชะลอการบรรจุ ผอ.เขตพื้นที่ ชี้เกณฑ์การสอบ ภาค ข และ ภาค ค ไม่เป็นธรรม สร้างความเสียหายในวงราชการ
ที่มา ; เดลินิวส์ 7 กันยายน 2565
ข่าวเดียวกัน
รองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) ยื่นฟ้องศาลปกครองอุบลฯ การออกกฎหลักเกณฑ์ วิธีการคัดเลือก ผู้อำนวยการเขตพื้นที่ฯ อาจไม่ชอบด้วยกฎหมาย
เมื่อวันที่ 8 กันยายน ที่ชมรมพิทักษ์ระบบคุณธรรมและสิทธิครูและบุคลากรทางการศึกษา ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อ.เมือง จ.อุบลราชธานี รองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) ทั่วประเทศ นำโดย นายประดู่ นามเหลา รองผู้อำนวยการ สพป.ร้อยเอ็ด เขต 3 พร้อมรองผู้อำนวยการ สพป.หลายจังหวัด เป็นตัวแทนพบนายวิบูลย์ กุลวงศ์ ประธานชมรมชมรมพิทักษ์ระบบคุณธรรมและสิทธิครูและบุคลากรทางการศึกษา ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพื่อขอความช่วยเหลือทางกฎหมายปกครอง เนื่องจากไม่ได้รับความเป็นธรรม กรณีหลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกบุคคลเพื่อบรรจุแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง ผู้อำนวยการ สพท. สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ลงวันที่ 12 พฤษภาคม 2565 ภาค ข. และภาค ค. เป็นการออกกฎในรูปของหลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกบุคคลเพื่อบรรจุแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ในลักษณะเป็นการเอื้อประโยชน์ให้แก่ผู้หนึ่งผู้ใดเป็นการเฉพาะ ส่อไปในทางทุจริต และมีขบวนการตัวกลางในการเรียกรับเงินจากผู้เข้าสอบคัดเลือกคนละกว่า 3 ล้านบาท เพื่อชื้อขายตำแหน่งกัน จนมีกระแสวิพากษ์วิจารณ์กันแพร่หลาย
นายประดู่ นามเหลา รองผู้อำนวยการ สพป.ร้อยเอ็ด เขต 3 กล่าวว่า เนื่องจากผลการสอบคัดเลือกผู้อำนวยการเขตพื้นที่ฯที่ผ่านมา ผลการสอบไม่บริสุทธิ์ยุติธรรม โดยเฉพาะในเรื่องหลักเกณฑ์ ประวัติและประสบการณ์การทำงาน ในการให้คะแนนไม่ชัดเจน มีการกำหนดตัวชี้วัดมา แต่ไม่กำหนดค่าน้ำหนักมาว่าประสบการณ์ควรให้กี่คะแนน ยกตัวอย่างเช่น เรื่องอาวุโส หรืออายุราชการ มีน้ำหนักคะแนนเป็นอย่างไรก็ต้องกำหนดมาอย่างนั้น เกณฑ์ทั่วไปจะกำหนดค่าน้ำหนักในการให้ค่าคะแนนในแต่ละองค์ประกอบ เช่น การย้ายผู้บริหารสถานศึกษาก็มีประกาศของคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) กำหนดองค์ประกอบตัวชี้วัดระบุว่า ผลงานดีเด่นระดับชาติ มีผลงานในรอบการปฏิบัติหน้าที่ได้เกียรติบัตรได้โล่รางวัล และจะมีค่าคะแนนเท่าไร แต่หลักเกณฑ์ดังกล่าวไม่มี กำหนดไว้เฉยๆ ว่าผู้อาวุโสหรือไม่อาวุโส เป็นการให้คะแนนตามอำเภอใจไม่ได้มีตัวชี้วัดว่าถ้าอาวุโสรับราชการกี่ปีมีผลงานอย่างไร จะได้รับค่าคะแนนเท่าไหร่ต้องมีกำหนดไว้เพื่อจะให้กรรมการใช้ดุลพินิจ โดยมีข้อเท็จจริงข้อกฎหมายในการสนับสนุน แต่นี่เป็นการใช้ดุลพินิจที่ทำให้ผู้ที่อาวุโสในหลักราชการหรือผู้ที่มีความรู้ความสามารถมีประสบการณ์ พลาดโอกาสในการพิจารณาคัดเลือกในครั้งนี้
นายวิบูลย์ กุลวงศ์ ประธานชมรมชมรมพิทักษ์ระบบคุณธรรมและสิทธิครูและบุคลากรทางการศึกษา ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กล่าวว่า จากการที่รองผู้อำนวยการเขตพื้นที่ฯเดินทางมาขอคำปรึกษาเกี่ยวกับคดีปกครอง เห็นว่าประเด็นข้อร้องเรียนจากรองผู้อำนวยการเขตที่ฯ ซึ่งได้นำพยานหลักฐานเอกสารต่างๆ มาประกอบการพิจารณา ทางชมรมเห็นว่าหลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกผู้อำนวยการเขตพื้นที่ฯอาจไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงได้รับเรื่องนี้ไว้เพื่อที่จะดำเนินการยื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครอง และยื่นคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวก่อนมีคำพิพากษา ทั้งนี้ เพื่อเป็นการปกป้องระบบคุณธรรมในระบบราชการ อย่างไรก็ตาม บรรดารองผู้อำนวยการเขตพื้นที่ฯยังประสงค์ที่จะยื่นคำร้องเรียน กล่าวโทษคณะกรรมการสรรหาดังกล่าวและขบวนการที่เป็นตัวกลางเรียกรับเงินในเรื่องนี้ ต่อ ป.ป.ช. ในเร็วๆ นี้ด้วย
ที่มา ; มติชนออนไลน์ วันที่ 8 กันยายน 2565
ข่าวเกี่ยวกัน
กลุ่มเสียสิทธิเล็งฟ้องศาลปกครอง ปมสอบ ผอ.เขตพื้นที่ฯ
เมื่อวันที่ 8 กันยายน นายสุภัทร จำปาทอง ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยกรณีกลุ่มผู้เข้าสอบคัดเลือกเพื่อบรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ทำหนังสือเพื่อขออุทธรณ์ โต้แย้งประกาศรายชื่อผู้สอบผ่านและได้รับการประกาศชื่อขึ้นบัญชี ทั้ง 498 ราย รวมถึงขอความเป็นธรรมให้มีการคุ้มครองชั่วคราว ต่อศาลปกครอง ให้ยกเลิกการสรรหาและบรรจุแต่งตั้งผู้อำนวยการ สพท. ว่า ตอนนี้กลุ่มผู้เข้ารับการคัดเลือกผู้อำนวยการเขตพื้นที่ฯ ได้เริ่มทยอยขอดูคะแนนบ้างแล้ว ซึ่งคณะกรรมการสรรหาฯ ก็ได้เตรียมเอกสารไว้แล้ว ใครจะขอดูคะแนนก็ให้ยื่นขอดูได้ ส่วนที่มีการร้องศาลปกครองให้คุ้มครองชั่วคราว ก็แล้วแต่ศาลจะพิจารณา ศาลพิจารณาแล้ว มีคำสั่งอย่างไรก็จะปฏิบัติตามคำสั่งศาลอยู่แล้ว ประเด็นนี้ สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) จะเป็นผู้ชี้แจงเองว่าทำอะไรไปบ้าง ข้อสอบมีความยุติธรรม โปร่งใสอย่างไร รวมถึงเรื่องที่เป็นความลับก็ต้องชี้แจงว่าทำไมถึงต้องเป็นความลับ อย่างไรก็ตาม ขั้นตอน กระบวนการสรรหา ตนได้ทำอย่างรัดกุม
ผู้สื่อถามว่า มีผู้ร้องสงสัยในหลักเกณฑ์การให้คะแนน Scoring Rubric 4-4-2 (40-40-20) นายสุภัทรกล่าวว่า 4-4-2 คืออะไร ตนไม่แน่ใจ เพราะ ก.ค.ศ.จะทำร่างไว้ให้ คะแนนจะเป็นอย่างไร ตนตอบไม่ได้ ต้องให้ ก.ค.ศ.ชี้แจง แต่เรามีกรรมการ 5 ชุด ซึ่งกรรมการแต่ละชุดแตกต่างกัน ชุดที่ 1 สอบความรู้ ความเข้าใจ ระเบียบ ปฏิบัติเรื่องกฎหมาย ซึ่งบางคนอ่านหนังสือและปฏิบัติเยอะก็จะได้เปรียบ ชุดที่ 2 ก็จะแบ่งเป็น 2 ส่วนคือ ประวัติกับคะแนนผลงาน ซึ่งถ้าดูประวัติคนอาวุโสก็จะได้เปรียบ ชุดที่ 3 จะแบ่งเป็นการสอบสัมภาษณ์ วิสัยทัศน์ ซึ่งเท่าที่ฟังกรรมการบางคนวิจารณ์ให้ฟังว่ากลุ่มที่เป็นรองผู้อำนวยการเขตพื้นที่ฯ จะได้เปรียบการสอบวิสัยทัศน์เพราะเป็นงานที่เขาทำอยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม ตนเชื่อว่าการสอบครั้งนี้มีความยุติธรรมโปร่งใส และตนได้กำหนดให้มีทศนิยม 4 ตำแหน่ง เพราะสุดท้ายต้องมาแข่งกันที่ทศนิยม เพราะค่าคะแนนของทุกคนที่ออกมาสูงมาก สอบผ่านเกือบทุกคน คนที่ไม่ผ่านคือคนที่ไม่ส่งผลงาน ไม่ใช่สอบไม่ผ่าน
ที่มา ; มติชนออนไลน์ วันที่ 8 กันยายน 2565
ข่าวเกี่ยวกัน
พร้อมแจงศาลปมร้องสอบ ‘ผอ.สพท.’ ยันกระบวนการโปร่งใส
เมื่อวันที่ 12 กันยายน นายประวิต เอราวรรณ์ เลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) เปิดเผยว่า ส่วนกรณีกลุ่มเสียสิทธิทำหนังสือถึงนายสุภัทร จำปาทอง ปลัด ศธ. ในฐานะประธานคณะกรรมการการคัดเลือกบุคคลเพื่อบรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา เลขาธิการ ก.ค.ศ. ในฐานะฝ่ายเลขานุการ ศาลปกครอง คณะกรรมาธิการการศึกษา (กมธ.) สภาผู้แทนราษฎร ขออุทธรณ์ โต้แย้งประกาศรายชื่อผู้สอบผ่านและได้รับการประกาศชื่อขึ้นบัญชี ทั้ง 498 ราย รวมถึงขอความเป็นธรรมให้มีการคุ้มครองชั่วคราว และยกเลิกการสรรหานั้น ทุกอย่างถือเป็นสิทธิ หากผู้เข้าสอบเห็นว่าไม่เป็นธรรมก็สามารถยื่นขอดูคะแนนสอบได้ โดยขณะนี้ทราบว่ามีผู้ที่ยื่นขอดูคะแนนจำนวนหนึ่ง ซึ่งตามขั้นตอนเมื่อมีผู้ยื่นขอดูคะแนน สำนักงาน ก.ค.ศ.จะตั้งคณะกรรมการขึ้นมาพิจารณา จากนั้นจะให้ทางมหาวิทยาลัยสวนดุสิต ในฐานะผู้จัดสอบ เป็นผู้เปิดคะแนน และอธิบายผลคะแนนทั้งหมดต่อไป
นายประวิตกล่าวต่อว่า ยืนยันว่าการจัดสอบครั้งนี้ ทำแบบตรงไปตรงมา ตรวจสอบได้ ส่วนกรณีที่ผู้อุทธรณ์ แย้งว่า ผลการจัดลำดับผู้ได้รับการสรรหา มีความน่าเคลือบแคลงสงสัยหลายประการ โดยเฉพาะการประเมินในภาค ข และภาค ค เป็นการออกกฎในรูปของหลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกบุคคลเพื่อบรรจุแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการเขตพื้นที่ฯ ในลักษณะเป็นการเอื้อประโยชน์ให้แก่ผู้หนึ่งผู้ใดเป็นการเฉพาะ ส่อไปในทางทุจริต และมีขบวนการตัวกลางในการเรียกรับเงินจากผู้เข้าสอบคัดเลือกคนละกว่า 3 ล้านบาท เพื่อชื้อขายตำแหน่งกัน จนมีกระแสวิพากษ์วิจารณ์นั้น ระบบการสอบภาค ข และ ค กรรมการและผู้เข้าสอบแต่ละคนจะไม่รู้ล่วงหน้าว่าจะได้เข้าสอบกับใคร เพราะใช้ระบบการสุ่มเลือกกรรมการ ดังนั้น จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะมีการให้คะแนนที่ไม่เป็นธรรม หรือมีการฮั้วกันไว้ก่อน ทั้งนี้ ยืนยันว่ากระบวนการจัดสอบครั้งนี้มีความโปร่งใส ตามนโยบายของ น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ซึ่งได้เน้นย้ำให้ดำเนินการทุกอย่างเป็นธรรม และไม่ให้มีการทุจริตอย่างเด็ดขาด
“ในการประชุมคณะกรรมการ ก.ค.ศ. ที่มี น.ส.ตรีนุช เป็นประธาน ในวันที่ 21 กันยายนนี้ จะมีการพิจารณาแต่งตั้งผู้อำนวยการเขตพื้นที่ฯทั้ง 77 เขตพื้นที่ฯแทนตำแหน่งว่าง ซึ่งต้องเร่งดำเนินการเพื่อไม่ให้การบริหารงานในพื้นที่เกิดปัญหา ส่วนกรณีกลุ่มที่เห็นว่าตัวเองเสียสิทธิ แล้วฟ้องศาลปกครองถือว่าเป็นไปตามกระบวนการ การบรรจุแต่งตั้งผู้ที่ได้ขึ้นบัญชี 77 ลำดับแรก ก็ต้องเดินไปข้างหน้าต่อไป เพราะศาลยังไม่มีคำสั่งใดๆ ออกมา แต่หากในอนาคตศาลมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว ก็ต้องชะลอการบรรจุแต่งตั้งไว้ก่อน เพื่อชี้แจงต่อศาล ซึ่งผมเองไม่กังวล ทุกอย่างสามารถอธิบายได้แน่นอน” นายประวิตกล่าว
ที่มา ; มติชนออนไลน์ วันที่ 12 กันยายน 2565